ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : ทางออกของภูเขาขยะ ตอน 1

 

28 กันยายน 2564 คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา 

ขยะเปียกทำปุ๋ย: ขยะพลาสติกทำน้ำมัน : ขยะสารพันทำแท่งเชื้อเพลิง (ถ้ารีไซเคิลไม่ได้อีก) 

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมย่องไปเยี่ยมชมการจัดการขยะมูลฝอยชุมชนระดับจังหวัดที่อุดรธานีครับ ขยะเทศบาลจากทั่วอุดรธานีถูกรถขนขยะนำส่งมาจัดการที่นี่ ผลผลิตจากโรงคัดแยกขยะนี้จะกลับออกไปเป็นแท่งเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าพลังขยะต้องการราว 30%ของปริมาณขยะสดที่ส่งเข้ามา

ถ้าเป็นกรณีปกติ ในอดีตก็แปลว่าขยะอีกถึง 70 % ยังต้องเอาไปฝังกลบ แต่ที่นี่ไม่ครับ

เพราะ เค้าสามารถดึงอินทรีย์วัตถุในขยะออกมาทำวัสดุบำรุงดินหรือทำสารปรับคุณภาพดินได้อีกตั้ง 60% และอีก 10% ยังอุตส่าห์ค้นเจอวัสดุต่าง ๆ ในกองขยะมารีไซเคิลได้ใหม่ เหลือที่ต้องลงหลุมฝังกลบน้อยมาก เฉพาะของที่ยังนึกไม่ออกว่าจะเอามาทำอะไรได้อีกในเวลานี้ ที่นี่มีเป้าหมายจะงัดหลุมฝังกลบขยะเก่าๆที่เคยฝังขยะเทศบาลลงที่นี่มากว่า 20 ปี กลับขึ้นมาทำขั้นตอนคัดแยกแบบนี้ใหม่ให้จนกว่าจะหมดด้วย!! 

ได้บุญกุศลต่อแผ่นดินแน่นอน เพราะเสมือนล้างป่าช้าขยะดีๆนี่เอง

นี่ไง ผมจึงต้องแล่นออกจากรัฐสภาบินไปขอดูให้เห็นกับตา เมื่อคุณแม่ลูกสอง ‘’คุณหยกและพี่พิศาล’’ เพื่อน และพี่ที่เรียนร่วมเรียนทันกันสมัยที่ยังอยู่ที่นิติศาสตร์ จุฬา กับผม บอกว่ามีเรื่องดี ๆ อยากให้ได้ไปสำรวจ เพราะรู้ว่าผมสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

ที่นี่เป็นบ่อขยะดั้งเดิมของจังหวัดที่ใช้งานมานาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองอุดรราว 35 นาที ขับรถทางเข้ายังขรุขระมีหลุมบ่อบ้าง แต่เมื่อเข้าไปถึงที่ตั้ง ก็จะพบขบวนรถขยะเทศบาลจากที่ต่างๆ ทยอยกันเข้ามาส่งของลง และมีรถสิบล้อพ่วงมารับเชื้อเพลิงที่เรียกว่า RDF ออกไปไม่หยุดทั้งวัน

ใต้ผืนดินละแวกนี้ เป็นบ่อฝังกลบขยะเทศบาลขนาดราว 300 ไร่ ที่สะสมขยะสารพันมาราว 20 ปี

คาดว่ามีปริมาณขยะใต้ดินอยู่ถึง หนึ่งล้านตัน!!

ไม่ต้องตกใจมากครับ
เพราะผมมั่นใจว่าเทศบาลนครในไทยส่วนใหญ่ก็มีแบบนี้แหละ

เพียงแต่มันไกลหูตา ห่างจากความสนใจของผู้คน เท่านั้นเอง

แต่คิดดูว่าทั่วประเทศทุกเทศบาลรวมกันมาตลอด 40 กว่าปีของการก้าวสู่สังคมบริโภคและอุตสาหกรรมนิยมนั้น เรามีซากขยะหมักใต้แผ่นดินคิดเป็นปริมาณเท่าใด

และบัดนี้กองทับกันเข้าไปใหม่วันละน้อยลงหรือไม่

คำตอบคือไม่ครับ มีแต่การผลิตขยะรายหัวเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก

ยิ่งพอโควิดมา การใช้พลาสติกและการทิ้งนั่นนี่ยิ่งเยอะ เลยเติมอัตราผลิตขยะเพิ่มยกใหญ่

ด้วยว่าอ้างความจำเป็น

พนักงานที่นี่ทำงาน 8 ชั่วโมง ต่อวัน ในอนาคตถ้าจะทำเพิ่มเป็น 3 กะ 3 ชุดแบบ 24 ชั่วโมงก็คงทำได้ ถ้าจำเป็น และเมื่อระบบสนับสนุนสมบูรณ์ครบตามแผน

ที่นี่เปิดดำเนินการมาเพิ่งจะ 2 ปี

สถิติที่ทำได้แล้วคือ

ราว 10 % ของกองภูเขาขยะนี้ ถ้าคุ้ยดีๆ จะเจอวัสดุที่พอรีไซเคิลได้ราว 5 %
อีก 5 %คือของที่ยังเอาเข้าโรงคัดแยกไม่ได้ ไม่งั้นมันจะทำให้เครื่องจักรพันกันยุ่งจนพัง ได้แก่เศษแห ตาข่าย เชือก สแลนบังแดด ที่นอนเก่า ๆ เน่า ๆ ยางรถ สายพาน และแน่นอน เดี๋ยวๆก็อาจจะเจอวัตถุระเบิดและอาวุธที่มีมิจฉาชีพโยนทิ้งติดในถังขยะมา กับต้องคอยระแวงระวังขยะติดเชื้อและขยะอันตรายต่างๆที่อาจมีหลงรอดติดเข้ามา

อย่างไรก็ดี เสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่ตรงที่จะเล่าต่อครับ

60%ของภูเขาขยะจะกลายไปเป็นปุ๋ยหรือวัสดุปรับปรุงดิน เพราะขยะเทศบาลนั้นมีสารอินทรีย์ ซากพืช เศษอาหาร และเศษซากจากเนื้อและกระดูกหรือก้างปลาเยอะทีเดียว

30% ของภูเขาขยะกลายเป็นแท่งอัดของเชื้อเพลิง หรือ RDF (Refuse Derived Fuel)ซึ่งส่วนมากมาจากเศษขยะพลาสติกอัดกันเป็นก้อนเป็นแท่งสำหรับส่งเข้า’’เตาไฟ’’ของโรงไฟฟ้า สุดแต่ว่าจะเอาไปเผาเอาความร้อนแทนเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันเตา น้ำมันดีเซลหรือจะเผาอย่างแท่งฟืนก็ว่าไปที่มุ่งสู่ เมืองคาร์บอนต่ำ หรือ LCC (Low Carbon City Program)

แถมยังมีMOU กับบริษัทของเกาหลีใต้ เพื่อศึกษาการนำก๊าซต่างๆจากหลุมขยะขึ้นมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามแนวคิด กลไกการพัฒนาที่สะอาด หรือ CDM (Clean Development Mechanism)

แปลว่างานนี้สามารถขาย คาร์บอนเครดิต ได้เงินมาเสริมอีกทางด้วย
เพราะการเปลี่ยนขยะมูลฝอยให้เป็นเชื้อเพลิงได้นี้ ถือว่าช่วยลดก๊าซเรือนกระจก และตลาดซื้อขายคาร์บอนของโลกก็รออยากซื้อกันอยู่มาก เพราะมิเช่นนั้น พวกกิจการที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

สำหรับการคัดแยกพลาสติกออกมาจากภูเขาขยะนี้ เจ้าของโครงการสามารถเลือกที่จะไม่อัดแท่ง แต่เอาพลาสติกไปเข้า’’หม้ออบหลอม’’ คืออบด้วยความร้อนสูงเพื่อได้ผลผลิตออกมาเป็นน้ำมัน อัตราการแปรรูปที่เทคโนโลยีปัจจุบันทำกันได้คือ ขยะพลาสติกที่คัดแล้วตันหนึ่งจะกลั่นออกมาได้เป็นน้ำมันราว 500 ลิตร ซึ่งเมื่อปรับคุณภาพแล้วสามารถใช้น้ำมันนี้เติมเครื่องจักรในภาคเกษตรก็ได้ ใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าก็ได้ หรือบางวัดใช้เผาศพก็มี ที่กาญจนบุรีมีทำเช่นนี้เพราะราคาประหยัดกว่าและได้ผลอย่างเดียวกัน

สำหรับขยะสดที่เอาไปทำวัสดุปรับปรุงดินนั้น ได้ทดลองให้สหกรณ์การเกษตรที่ร่วมมือมารับไปใช้ในพื้นที่เพาะปลูกแล้ว มีการตรวจติดตามผลว่าดินเดิมของที่นั้นๆ ขาดอะไรหรือมีอะไรที่ควรตัดทอนชดเชย เพื่อให้ปลูกพืชได้งามขึ้น ซึ่งก็ได้ผลดี ด้วยการปรับสูตรจุลินทรีย์ที่ใช้หมักกองขยะอินทรีย์ให้เหมาะกับผลที่ต้องการ

และในการคัดแยกขยะมหึมาขนาดนี้ ทางโครงการได้จดทะเบียนร่วมกิจกรรม

ขยะชุมชนของไทยต่างจากขยะชุมชนของตะวันตก เพราะขยะของฝรั่งตะวันตกนั้น จะมีเศษอาหารลงถังมาปะปนน้อยมาก อีกทั้งฝรั่งไม่ค่อยนำเหมู ไก่ ปลา เป็นตัวๆมาแล่เองที่บ้านเท่ากับที่คนเอเชียทำ ฝรั่งคุ้นกับการซื้อเฉพาะเนื้อที่แล่สำเร็จ เลาะกระดูกที่ไม่บริโภค จากร้านจำหน่ายใส่ห่อพร้อมแช่ตู้เย็นมาแล้ว ถ้าเป็นปลาก็แทบไม่เคยได้หัวได้หางหรือครีบหรือไส้ปลากลับมาบ้านด้วยซ้ำ คือได้เป็นเนื้อปลาแล่เป็นชิ้นเป็นแผ่นกลับมาพร้อมเข้าเตาอาหารเลย
ฝรั่งทานไปจึงไม่ค่อยมีก้างมีครีบมีกระดูกเหลือทิ้ง เพราะถูกคัดแยกออกไปตั้งแต่ยังอยู่ที่โรงแล่ และหรือร้านขายเนื้อ(Butcher shop)

ขยะของโรงชำแหละจึงไม่ปะปนกับขยะครัวเรือน

แต่ในเอเชียเรานั้น ประชาชนยังนิยมซื้อปลาทั้งตัว ซื้อเป็ดไก่สดทั้งตัว มาสับเองแล่เองที่บ้าน ขยะครัวเรือนจึงมีเศษซากเหลือทิ้งเป็นรูปขยะอินทรีย์ที่เน่าเสียและเปียกมันเยิ้มมากกว่า แถมด้วยถุงแกง ซึ่งมันแผล้บแน่นอน

ผักในอาหารไทยหลายอย่างก็ใช้เพื่อดึงเอารสชาติหรือเอากลิ่นเฉยๆ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด รากผักชี ซึ่งไม่ค่อยมีใครเคี้ยวกลืนแน่ ดังนั้น ก้นชามจึงมีเศษอาหารที่ต้องถูกทิ้งออกมามากกว่าแนวครัวอาหารฝรั่งอยู่พอควร
ถุงขยะเราเลยมีทั้งกากใยและทั้งไขมันลงถังแยะกว่า

ขยะร้านอาหารริมทาง ร้านเพิง ร้านห้องแถวหลายที่ก็ใช้การทิ้งเศษวัตถุดิบและของเหลือจากลูกค้าปนมากับขยะเทศบาล

ตลาดสดยิ่งมีเศษผักเศษอินทรีย์แยะ และก็ใช้รถขยะเทศบาลเก็บออกเช่นกัน

ขยะชุมชนไทยจึงเปียก มีน้ำหนักสูงและเน่าเสียเร็ว

ในขณะที่ขยะชุมชนของชาติตะวันตกจะเป็นพวกบรรจุภัณฑ์ เศษไม้เศษผ้าและเฟอร์นิเจอร์ชำรุดซึ่งแห้งกว่า

ส่วนเศษซากถ่านไฟฉาย หลอดไฟ และซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์นั้น ฝรั่งมีกติกาเทศบาลที่ใช้จนคนคุ้นชินเรื่องวิธีแยกทิ้งเพื่อส่งทำลายให้ถูกต้อง

นี่เล่าแบบเบื้องต้นนะครับ

ไม่ใช่ว่าตะวันตกมีวินัยกันได้หมดหรอก แต่การทิ้งขยะแบบมั่วในบ้านเขามีเหลือเพียงส่วนน้อย แต่ของฝั่งเอเชีย อาจยกเว้นญี่ปุ่น ที่คุ้นชินการทิ้งแบบรวมหมู่ มีทั้งเปียกแห้งและขยะอันตราย แถมเผลอๆมีขยะติดเชื้อปนมาให้ด้วย

ดูจะยังต้องรณรงค์กันอีกมากอยู่

กล่าวคือระบบตะวันตกมีกติกาและความคุ้นเคยกับการคัดแยกขยะในครัวเรือนตั้งแต่ต้นทางมาพักหนึ่งแล้ว รถเก็บขยะก็มีเพียงพอจะแบ่งคิวได้ทั่วถึงกว่า ดังนั้น ขยะชุมชนของบ้านเขาจึงสยดสยองน้อยกว่าขยะชุมชนของเอเชีย แต่กระนั้นกองขยะของเขากองใหญ่มากเพราะแต่ละคนผลิตขยะเยอะมากจากอำนาจซื้อที่สูงกว่า โดยเฉพาะอเมริกัน

ความเปียกของขยะนี่เอง ที่ทำให้เทคโนโลยีของฝรั่งที่เคยผลิตเตาเผาขยะขายทั่วโลก กลับไม่ค่อยเวิค์ในเอเชีย

เพราะเตาเผาขยะในไทยจะต้องถูกเร่งโหมอุณหภูมิสูงใส่น้ำมันเติมบ่อยๆเนื่องจากขยะที่ยังมีความชื้นสะสมอยู่มากนั้น ย่อมเผายากกว่า
ในขณะที่เตาเดียวกันเผาขยะฝรั่ง แทบจะอาศัยความแห้งของตัวขยะเป็นเชื้อเพลิงไปได้เลย

แต่ที่แน่ๆ ขยะชุมชนของฝรั่งนำมาสกัดเป็นปุ๋ยอืนทรีย์ได้ไม่คุ้มค่า เพราะปริมาณอินทรีย์สารในกองขยะเขาก็มีน้อยตามเหตุข้างต้น

อินทรีย์สารในขยะชุมชนไทยมีมาก จึงทำเป็นบ่อเกิดของเชื้อโรค เป็นที่ชุมนุมของหนู นกและแมลง แถมย่อมส่งกลิ่นรบกวนรุนแรงยิ่ง การหมักหมมนี้ยังกลายเป็นก๊าซมีเทนซึ่งสร้างปัญหาในฐานะก๊าซเรือนกระจกอีก นำมาซึ่งสภาวะโลกร้อน และสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

สถานที่จัดการขยะที่อุดรธานีก็ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาเช่นกัน

พรุ่งนี้มาต่อตอนจบครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา 

ที่มา

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ส.ว. เขียนบทความนำเสนอ "ทางออกของภูเขาขยะ" (khaosod.co.th)

 ---------------------------------------------