ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ขยะไทยก็เอาไม่อยู่ จะนำเข้าขยะต่างประเทศเข้ามาอีก ?

 


โดยวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ขยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเมืองไหน ประเทศใดปราถนาหรอกแต่มันก็มีขึ้น มากน้อยตามปริมาณการบริโภค และค่านิยมการทำตลาดของสินค้า นั่นคือลักษณะของขยะธรรมดา แต่ถ้าเป็นขยะพลาสติก นอกจากมีลักษณะข้างต้นครบถ้วน แต่ที่หนักกว่าคือมันจะอยู่ทนทานนานร้อย ๆ ปี แม้แต่ตอนที่มันสลาย มันก็ยังไม่หมดอิทธิฤทธิ์เพราะมันแค่แตกตัวให้เล็กลง ๆ จนตามองไม่เห็น และเล็กลงจนไปอยู่ในห่วงโซ่อาหารของสิ่งมีชีวิต ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะถ้ามันเป็นพลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเลียม มันจึงเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และร้ายแรง
รัฐบาลนายกฯ บรรหาร ในปี 2539 จึงได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกหรือสิ่งใดที่ใช้ไม่ได้แล้วและทำจากพลาสติกเข้ามาในประเทศ เว้นแต่จะอนุญาตโดย กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่ง กระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกประกาศ กรมโรงงาน ว่าเศษพลาสติกที่จะนำเข้ามาขออนุญาตนั้นต้องมีขนาดที่ตัดแล้วยาวไม่เกิน 2 เซนติเมตร และต้องสามารถใช้ส่งเข้ากระบวนการหลอมได้โดยไม่ต้องมีการทำความสะอาดอีก
10 ปีต่อมา จึงยกระดับจากประกาศกรมโรงงานมาเป็นระดับ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม แปลว่าควบคุมโดยมีเงื่อนไขมาตั้งเกิน 20 ปีแล้ว ซึ่งก็ราบรื่นดี เมื่อไม่มีการนำเข้ามาเยอะเกินไปราคาขยะในประเทศก็พอไปไหว ซาเล้ง และคนเก็บคุ้ยขยะ จึงสามารถเก็บเศษพลาสติกทั้งถุงทั้งขวด ทั้งเครื่องใช้พลาสติกมาชั่งน้ำหนักขายให้ร้านรับซื้อของเก่า รับซื้อขยะเพื่อรวบรวม แยกแยะตามหมวดวัสดุ ขายส่งเป็นวัตถุดิบให้โรงงานในไทยบ้าง ส่งไปขายในตลาดรับซื้อวัสดุเหลือใช้ในต่างประเทศบ้าง จนมีตลาดกลางระหว่างประเทศที่มีราคากลางของเศษวัสดุชนิดต่าง ๆ ให้อ้างอิง คนจีนเรียกว่า หั่งเช้ง เสมือนเป็นดัชนีดาวน์โจนส์บอกสถานการณ์ตลาดของเรื่องนั้น ๆ คนคุ้ยขยะออกมาจากซากจากกองจึงนับว่ามีคุณต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมไทยอยู่ไม่น้อย เพราะช่วยลดขนาดและปริมาณขยะในแต่ละถิ่นได้ลดภาระเทศบาลและกทม. ไปในตัว แต่เขาจะทำอย่างนั้นได้ ก็ต่อเมื่อสิ่งที่เขาเก็บไปรวบรวม มันยังพอเหลือราคาค่างวดที่พอจะประทังชีพเขาได้ ถ้าขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่ไม่มีใครรับซื้อในราคาที่เขาพอจะอยู่ไหว เขาจะเก็บมันออกไปหรือ นับเป็นวิชาเศรษฐศาตร์สิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอย่างหนึ่งได้เลยนะครับ

นั่นคือฉากแรก
ตัดภาพมาฉากสองของวงการขยะข้ามชาติ ขยะที่ถูกรวบรวมตามฉากแรกตะกี้ มีเป็นจำนวนมากที่ส่งไปที่จีนแผ่นดินใหญ่ เพราะในช่วงก่อร่างก่อนทะยานตัวจากชาติอุตสาหกรรมไปสู่ชาติไฮเทคนั้น จีนยอมรับสภาพการตกเป็นแหล่งรับและแหล่งก่อมลพิษ เพื่อแลกกับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่พอกลางปี 2560 จีนผ่านความตื่นตัวขนานใหญ่ และได้กลายเป็นชาติที่มีโครงการเศรษฐกิจสีเขียวที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จีนจึงประกาศห้ามการนำเข้าขยะแทบทุกอย่างจากต่างประเทศ และให้เวลา3ปี จากปี 2560 ที่จะไม่มีขยะอะไรจะเข้าจีนได้อีกในปี 2563 ซึ่งหลังจากนั้นจีนก็ขยับ จัดระเบียบใหม่ในเรื่องอื่นๆตามมาอีกเป็นลำดับจนทุกวันนี้ ที่จีนสามารถบอกทุกชาติ และบอกคนรุ่นถัดไปในจีนได้ ว่าเขาได้กล้าหาญ และฉลาดเฉลียวพอที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของการพัฒนาที่ไม่ทิ้งสิ่งแวดล้อม เห็นแก่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้แต่การจำกัดเวลาเกมส์ออนไลน์ให้เยาวชนเล่นได้ ไม่เกินสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง!! ถ้าเป็นชาติอื่น ๆ คงลงแดง

แต่ถ้าทำเรื่องปฏิรูปเปลี่ยนแปลงอย่างกล้าหาญ มีแบบมีแผนมาเรื่อย ๆ ผู้ต่อต้านก็จะเลี่ยงและถอยออกไปได้เองแน่นอนว่าเถ้าแก่โรงหลอมพลาสติกเพื่อผลิตนั่นนี่ที่ยังไม่อยากเปลี่ยนอาชีพก็ต้องกระเจิง สั่งย้ายระบบธุรกิจเสี่ยง ๆ ต่อสิ่งแวดล้อมออกจากจีนไปหาที่ตั้งใหม่ จะไปไหนล่ะครับ ถ้าไม่มาอาเซียนและไทยที่ใกล้กว่า และกำลังแข่งกันดึงดูดการลงทุนข้ามชาติเข้าไปหาพื้นที่ตัวเองมาตลอด 40 ปี ปรากฏว่า ยอดการนำเข้าเศษพลาสติกพุ่งพรวดในปี 2559 แล้วทะยานจากกราฟเรียบแบนที่ไม่เคยเกิน 5-6 หมื่นตันต่อปี กลายเป็น เกือบ 7 แสนตันต่อปี!! โต 10 เท่าตัว ทันที

รออ่านต่อภาค 2 พรุ่งนี้

ที่มา https://www.facebook.com/ampai.ti/videos/524867788734202/

---------------------------------------------