สว.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในการความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ....
วันที่ 11 ก.ค.2565 ที่ประชุมวุฒิสภา ที่มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในการความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามาญพิจารณาเสร็จแล้ว โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. ประธาน กมธ.ฯ พิจารณาในวาระที่ 2-3
โดยที่ประชุมใช้เวลาพิจารณานานกว่า 4 ชั่วโมง กระทั่งมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายในวาระที่ 2 ด้วยคะแนน 137 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง
ทั้งนี้เมื่อเวลา 17.10 น.ที่ประชุม ส.ว.ได้พิจารณาลงมติในวาระที่ 3 โดยมีมติเห็นชอบด้วยคะแนน 145 เสียง ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และงดออกเสียง 2 เสียง จากนั้นส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการต่อไป
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในการความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ.... มีทั้งหมด 43 มาตรา โดยในวาระที่ 2 มีการแก้ไข 12 มาตรา มีสาระสำคัญ คือ การเพิ่มมาตรการติดตามผู้กระทำความผิดทางอาญาเกี่ยวกับเพศหรือการใช้ความรุนแรง เช่น การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา ความผิดทางเพศเกี่ยวกับเด็ก การทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ที่แม้จะถูกจำคุกพ้นกำหนดโทษ ได้รับการปล่อยตัวสู่สังคมแล้ว แต่มีผู้กระทำความผิดส่วนหนึ่งมีแนวโน้มทำผิดซ้ำในรูปแบบเดิมอีก จึงต้องมีกฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ
โดยกำหนดให้มีทั้งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด มาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังฉุกเฉิน ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำที่อาจเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ในส่วนมาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด จะมีมาตรการทางการแพทย์สามารถให้ยากดฮอร์โมนเพศชาย หรือ ฉีดให้ฝ่อ แก่ผู้กระทำผิด หากเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้ โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อย 2คน เห็นพ้องกันและได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิด และให้นำผลการใช้มาตรการทางการ แพทย์ดังกล่าว เป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุม ส.ว. ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางในหลายประเด็น โดยเฉพาะมาตรา 21 เรื่องมาตรการทางการแพทย์ที่เปิดช่องให้มีการฉีดยาลดฮอร์โมนเพศแก่ผู้กระทำผิด โดยส่วนใหญ่เห็นด้วยในหลักการ แต่ยังติดใจว่าจะสามารถปฏิบัติได้จริงหรือไม่
โดย สว.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ได้ร่วมอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ ในครั้งนี้
---------------------------------------------
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
สมาชิกวุฒิสภา, ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกีฬา ของวุฒิสภา, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ที่มา www.weerasak.org / https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat