ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

บพข.ผนึกกำลังภาคเอกชน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

ประชาชาติธุรกิจ : บพข.ผนึกกำลังภาคเอกชน ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ วีระศักดิ์ชี้ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังโตปีละ21%

“บพข.ผนึกกำลังภาคเอกชน” ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มุ่งสู่รองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล

วันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน

โดยได้รับเกียรติจาก นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย และการบรรยายพิเศษ” และนางสุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล” ณ ห้อง 211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากล่าวว่า มูลค่าโดยรวมของอุตสาหกรรม Wellness Economy ของโลกลดลงในช่วง COVID-19 แต่หากมองภาพในระยะยาวปี 2020-2025 จะพบว่าอุตสาหกรรมนี้โดยรวมมีแนวโน้มกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยเฉลี่ยต่อปีจะเติบโตสูงถึงประมาณ 10% และเมื่อเจาะลึกลงไปเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) พบว่าเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 21%...

และจากการสำรวจของ Medical Tourism Index 2020-2021 ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ พบว่า ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 17 จาก 46 ประเทศ ซึ่งประเทศมีศักยภาพในการเป็นผู้นำทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ หากผสมผสานความเป็นไทย (Thainess) ที่มีจุดแข็งทางด้านวัฒนธรรมและประชาชนที่เป็นมิตร สามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ที่มาเยือนได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาซื้อได้... สำหรับการออกแบบงานวิจัยให้ตอบสนองความต้องการของเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1.กลุ่มผู้ที่มองหาประสบการณ์ท่องเที่ยวเพื่อดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเองเป็นหลัก ผู้ประกอบการสามารถนำเสนอบริการไม่ว่าจะเป็น การอาบป่า (Forest Bathing) หรือการเข้าป่าเพื่อบำบัดและใช้เวลาท่ามกลางธรรมชาติ ไปจนถึงการท่องเที่ยวเพื่อการนอนหลับ (Sleep Tourism)

และ 2.กลุ่มผู้ที่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่มองหาช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างนั้น เช่น บริการให้คำปรึกษาโดยบำบัดออนไลน์สำหรับแขกผู้เข้าพัก เป็นต้น” ดร.วีระศักดิ์ กล่าวเสริม

ด้านนางสุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เห็นความสำคัญของการวิจัยด้านท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ด้วยการพัฒนากรอบแนวคิดการวิจัยเพื่อรองรับตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการร่วมกันทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัตน์ สมาคมสปาไทย และสมาพันธ์สมาคมสปาแอนด์เวลเนสไทย ร่วมกับนักวิจัยเพื่อพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในประเทศไทย

ซึ่งผลความสำเร็จในวันนี้ มีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GHA Well Hotel 1 แห่ง และผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย GBAC Star 9 แห่ง ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลที่สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย นอกจากนี้ ได้วางแผนขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว ผ่านการสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมทางด้าน Supply และส่งเสริมการตลาดในกลุ่ม Wellness, Rehab & Retreat, Longstay และ Tourism for All เพื่อขยายโอกาสทางการตลาดและเชื่อมโยงธุรกิจบริการอื่น ๆ ได้”

“แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยเครือข่าย มีเป้าหมายสำคัญร่วมกันคือ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงทำอย่างไรให้เกิดการบูรณาการ นำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ภายใต้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการ การออกแบบแผนงานทางด้านตลาด ในกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อคนมั้งมวล หรือ Tourism For All ซึ่งผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2570 ผลตอบแทนจากการลงทุน Return on Investment หรือ ROI ต้องขยับได้ 3.5 เท่า หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาท” ผศ.สุภาวดีกล่าว

อย่างไรก็ดี ในอนาคต ปี 2567-2570 กลุ่มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจะเป็น Key หลักในการขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่กระบวนการ Net Zero Pathway และเชื่อมกับมาตรฐานสากลต่อไป สำหรับด้านของการตลาดเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. โดยมีนักวิชาการ คณะนักวิจัยกลุ่มท่องเที่ยว บพข.หนุนเสริม ทั้งด้านของ Market Foresight และการสำรวจเทรนด์ในปัจจุบัน ตลอดจนสนับสนุนการจัดเตรียมความพร้อมด้าน Supply ในการรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ผ่าน Soft Power ต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีเวทีเสวนาการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การรองรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล เพื่อรวมพลังนักวิชาการด้านสุขภาพแถวหน้าของเมืองไทย โดยผนึกกำลังผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ พร้อมนำองค์ความรู้จากภาควิชาการมาหนุนเสริมการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ  ภาคเอกชน และผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ

โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2567 แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข.มีนักวิจัยกว่า 85 คนจากกว่า 20 มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก บพข.ให้ดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ออกแบบผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยว เพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง พร้อมทั้งนำผลิตภัณฑ์ไปขายจริงในงาน Trade Show และ Road Show ต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงตลาดในระดับสากล

ซึ่งในเดือนตุลาคมนี้ คณะนักวิจัยจาก บพข.นำโดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช จะมีภารกิจนำผลงานวิจัยทางด้านสปาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไปนำเสนอในงาน South by Southwest (SXSW) 2024 ที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งงานสำคัญที่เปิดโอกาสในการสร้างเครือข่ายและผลักดันการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทยสู่ระดับสากลต่อไป.

ที่มา https://www.prachachat.net/tourism/news-1618372