เป็นวิทยากรเวทีสนทนา มหกรรมถนนคนเดิน ‘’แนวอุบล’’
1 มิถุนายน 2567 คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากจังหวัดอุบลราชธานี เป็นวิทยากรเวทีสนทนาร่วมกับ อาจารย์ปัญญา แพงเหล่า นักประวัติศาสตร์ คุณไพบูลย์ จงสุวัฒน์ ประธานบริษัทห้างยิ่งยงพานิช ห้างสรรพสินค้าแห่งแรก ในจังหวัดอุบลราชธานี ดำเนินการเสวนาเวทีโดย อ.นพพร พันธ์เพ็ง เพื่อสนทนาถอดประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนถนนสายกลาง ย่านค้าขายเก่าแก่ของเมืองอุบล ที่เวทีกลางแยกหน้าร้านทองเก่าแก่ห้างแรกของเมือง ร่วมกันเล่าถึงความเปลี่ยนไปในยุคสมัยและความน่ายินดีที่ชุมชนเมืองเก่า ถนนอาคาร ตรอกซอยโบราณที่รวมอยู่อย่างลงตัวนี้ สามารถเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ถ่ายทอดจิตวิญญาณการอยู่ร่วมของผู้คน 5 ชาติพันธุ์ ชุมชนไทย ชุมชนจีน ชุมชนลาว ชุมชนชาวอินเดีย และชุมชนเวียดนาม อันเป็นที่มาของความผสมกลมกลืนของวิถีชีวิต อาหารการกิน การอยู่ร่วมทางวัฒนธรรม การนับถือศรัทธาในศาสนาและคติธรรมของเมือง รวมทั้งร่วมกันบันทึกรักษาสันติธรรม สันติวัฒนธรรม ผ่านยุคสมัยของการบุกเบิก จากยุคขนส่งทางท่าเรือของแม่น้ำมูลที่เขตเทศบาลเดิม ยุคกองทัพญี่ปุ่นมาสร้างสนามบินที่อุบล เชลยศึกฝรั่งยุคสงครามเอเชียบูรพา อนุสาวรีย์ความดีที่ฝรั่งสร้างให้เพื่อรำลึกความมีจิตใจเอื้อเฟื้อและกล้าหาญของชาวอุบล ในการคอยหาทางลักลอบช่วยเหลือเชลยฝรั่งระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ผ่านยุครถไฟราง สะพานเสรีประชาธิปไตย ตลาดใหญ่ ตลาดน้อย ยุคฝรั่งมาตั้งฐานทัพที่อุบลในยัคสงครามเวียดนาม จนถึงยุคที่ถนนขยายกระจายเมืองออกไปโดยรอบด้าน
การเป็นเมืองแห่งธรรมมะ เมืองแห่งธรรมชาติ และเมืองแห่งวัฒนธรรมที่รุ่งเรือง สงบ และการเปลี่ยนผ่านจากยุคโรงสี โรงหนังและโรงปอ มาสู่การเป็นเมืองแห่งเกจิอาจารย์สายวิปัสสนา เป็นเมืองแห่งวัดวาอาราม การประดิษฐ์เทียนพรรค เมืองปราชญ์และปรัชญาการศึกษา เมืองการแพทย์พยาบาล ที่ใหญ่ที่สุดในแดนอีสานใต้
ปิดท้ายการสนทนาเวทีด้วยการนำเสนอวิสัยทัศน์และวิธีการในการพัฒนาโครงการถนนคนเดิน เพิ่มคุณค่าชีวิตวัฒนธรรมร่วมสมัย ปลุกมิติเศรษฐกิจ สังคม และความกลมเกลียวของภาคประชาสังคมของคนพื้นที่ให้ยั่งยืนไปด้วยกัน
กิจกรรมนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ร่วมกับ เทศบาลนครอุบลราชธานี และองค์กรเครือข่ายตลอดจนภาคเอกชนเจ้าของอาคารในเขตเมืองเก่า จัดมหกรรม ถนนคนเดิน ‘’แนวอุบล’’ เป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม- 2 มิถุนายน 2567
มีกิจกรรมการแสดงงานศิลปะ งานอาหาร งานภาพยนตร์หนังกลางแปง งานจำหน่ายสินค้าพื้นถิ่น ของดีพื้นบ้าน การแสดงทางศิลปะวัฒนธรรม ในช่วงเย็นของทั้งสามวัน ภายใต้ความร่วมมืออย่างอบอุ่นของจากบรรดาเจ้าของห้องแถวในย่านที่จัดมหกรรม