ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : แหและสายเบ็ด ขยะที่แสนอันตราย

 

"...ธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆพยายามหาทางอัพไซเคิล รีไซเคิลขยะกลุ่มนี้มาเป็นสินค้าสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่นเอามาทำสินค้าแฟชั่น ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เป้ รองเท้ากีฬา บ้างก็สามารถเอาไปหลอมแล้วทอกลับเป็นเส้นใยที่เราจำหน้าตาของแหอวนเดิมไม่ได้เลย บ้างก็ยังรักษาบางส่วนให้เห็นเป็นตาข่ายหน้าตาเก๋ๆเพื่อให้รู้ว่าทำมาจากอะไร..."

....................

ประสบการณ์ที่ผมเคยเดินทางไปเก็บขยะในสายน้ำไม่ว่าพื้นที่น้ำจืดหรือน้ำเค็ม ขยะอย่างหนึ่งที่ซ่อนตัวเงียบๆเกลื่อนกลืนกับสถานที่มาตลอด ก็คือเส้นเชือก เส้นเอ็นที่มักจะดูแล้วไม่ได้รกตา ขวางอารมณ์อย่างถุงหรือขวดพลาสติก ลังโฟมเปื่อยๆ หรือเศษซากที่นอนหมอนอิง

แต่ถ้ามีกะใจสาวมันขึ้นมาทีไร เป็นได้เจอ แจ้คพ้อตแตกแทบทุกหนครับ

เพราะสาวไปแล้วจะเจอว่ามันมักจะฝังลึกถูกทับอยู่ใต้ทรายใต้ดินลึก หรือไปกระหวัดรัดเกี่ยวกับอะไรมากกว่ากว่าที่ตาเห็นมาก และถ้าไม่มีเครื่องมือเตรียมมาเพียงพอ ลำพังมือเปล่าๆจะยื้อกับขยะเศษแหอวนและเส้นเอ็นของเบ็ดตกปลาก็จะยากทีเดียว

 

วัสดุที่ใช้ผลิตเครื่องมือจับสัตว์น้ำทุกประเภท ล้วนทำมาจากวัสดุที่คงทนต่อการกัดกร่อน ไม่กลัวน้ำ ไม่เปื่อยยุ่ยง่าย เหนียว และมักจะคมครับ

อายุของสายเบ็ดเส้นหนึ่งจะอยู่ไปได้อีกราว 600 ปี!! ถ้าเป็นแหไนล่อน อวนไนล่อน จะอยู่ไปได้นานกว่านั้นอีกมาก

แถมยังมีลักษณะเป็นแนวยาว แหหนึ่งปาก อาจรวบตัวเองเข้ามาเหลือเป็นเส้นที่รวบบางกว่าผ้าเช็ดตัว เพราะเส้นใยไนล่อนสีจางๆเหล่านี้บาง เบา เหนียว แต่คมพอที่จะบาดนิ้วคนที่ไปดึงมันได้สบาย สายเบ็ดก็ไม่ค่อยต่างกัน

และด้วยความเป็นแนวยาวของมันราวกับเชือกนี่แหละที่ทำให้ชาวเรือหวาดระแวงที่มันจะไปพันเข้ากับแกนหมุนของเครื่องยนต์เรือ แกนใบพัด หางเสือ ตั้งแต่เรือเดินทะเล เรือป้อกแป้ก เรือหางยาว ไปจนเรือสปีดโบ้ท หรือเจ็ตสกี

เข้าถึงเครื่องเมื่อไหร่เป็นอันจบกัน เพราะมันจะถูกแกนหมุนพาให้พันแกนสะบัดเกี่ยวกับอะไรต่ออะไรจนเครื่องพัง ถ้าโดนเข้าที่หางเสือก็จะยึดจนหางเสือเลี้ยวเรือไปมาไม่ได้อีกต่อไป

ทางเดียวที่จะแก้สิ่งเหล่านี้ออกจากการพัน คือต้องโดดลงน้ำเพื่อดำไปตัดด้วยกรรไกรที่แข็งแรงเพียงพอ

ซึ่งแน่นอนครับ ว่ามักจะอยู่ในจุดที่เข้าถึงยากใต้ท้องเรือเสมอ

แถมในระหว่างที่ต้องหยุดเรือเพื่อดำน้ำลงไปแก้ไขปัญหานี้ ก็ย่อมจะเสี่ยงที่คลื่นลมจะพัดเรือให้ไหลไปอย่างเปะปะ อาจปะทะเข้ากับเรืออื่น ปะทะหินโสโครก ปะทะเสาสะพาน ปะทะตลิ่ง สุดแต่ว่าจะอยู่ใกล้ที่ไหน เว้นแต่เรือใหญ่มีสมอก็อาจพอทำเนา

นี่อันตรายที่หนึ่งของขยะเป็นเส้นเหนียวๆอย่างแหอวนและสายเบ็ด

อันตรายที่สองคือแม้เศษอวน เศษแห เศษสายเบ็ดไม่ไปโดนเรือ แต่หากไหลพัดไปเกี่ยวเข้ากับกิ่งไม้รากไม้ตามป่าโกงกางหรือตามรากไม้ริมคลอง ทีนี้มันจะทำตัวเป็นตัวดักจับขยะให้ติดกับมันเป็นพวงใหญ่ขึ้นเรื่อย น้ำพัดก็ไม่ไปไหน ติดคาขวางทางน้ำเสียอย่างนั้น ใครจะไปเก็บกวาด ถ้าไม่มีอุปกรณ์ดีพอก็มักต้องยอมใจ เพราะยากพอๆกับลิงแก้แห

ประเหมาะเคราะห์ร้ายจะโดนมันพันเกี่ยวเสี่ยงชีวิตเสียอีก

มีเด็กที่ว่ายน้ำเล่นหรือพลัดตกน้ำแล้วถูกสายเบ็ดพันแขนขาเนื้อตัวจนจมน้ำเสียชีวิต มีผู้ใหญ่ที่เป็นคนว่ายน้ำเก่งถูกมันพันมือจนจมน้ำดับก็มี ไม่นับสัตว์เลี้ยงอย่างควายอย่างเป็ดที่ลงน้ำแล้วติดอะไรใต้น้ำจนเจ้าของต้องเสี่ยงชีวิตลงไปช่วยแกะช่วยตัดก็มาก

นี่จึงเป็นอันตรายที่สอง

อันตรายที่สาม คือหากแม้นมันถูกพัดพาออกทะเล แต่ด้วยความทนทานนานปีของมัน มันจะเที่ยวท่องไปตามกระแสคลื่น น้ำขึ้นน้ำลงกวาดเอาสัตว์น้ำ แถมบางทีรวมถึงสัตว์ปีกและเต่าที่มาแตะโดนมันเข้าให้ต้องจมน้ำตายไปเรื่อยๆ ตัวแล้วตัวเล่า อย่างน่าอนาถ

ถ้ามันไปแตะโดนปะการังหรือกัลปังหา มันก็จะเกี่ยวคาอยู่พร้อมกับความสกปรกที่ติดมากับมันจนทำให้ปะการังตายหรืออย่างน้อยก็หักหรือฉีกขาดเสียหาย

ผมเคยไปร่วมดำน้ำจัดการกับขยะกลุ่มแหอวน สายเบ็ดเหล่านี้ในทะเล ต้องบอกครับว่าแกะยากมาก แถมมีเพรียงมาเกาะจนคม คลื่นดันมันไปมาจนมันตรึงแน่นยึดกับแนวปะการัง จนแม้จะตัดโดยใช้ของมีคมก็ยังทำได้ช้าและยากเย็นมาก ๆ

ปัจจุบันกิจกรรมตกปลา จับปลาไม่ได้ทำโดยชาวประมงเท่านั้นแล้ว แต่ได้กลายเป็นกิจกรรมหาวัตถุดิบมาปรุงอาหารของนักตกปลา ของแรงงานหาเช้ากินค่ำ ของคนที่อยากฆ่าเวลาหรือพัฒนาฝีมือเป็นกีฬาชักกะเย่อกับปลาก็มาก

ตามราวสะพานต่างๆ บางทีจะสังเกตได้ ว่ามีให้เห็นหนาตาขึ้นมากทีเดียว

โดยเฉพาะช่วงโควิด มากระทบวงจรชีวิตผู้คน

มือใหม่จึงเข้ามาร่วมใช้เครื่องมือหาปลากันเยอะขึ้น ในขณะที่ลำน้ำมีขยะเพิ่มทั้งที่ผิวน้ำ กลางน้ำ และใต้น้ำเยอะไปหมด

โอกาสที่เครื่องมือจับสัตว์น้ำแนวแห อวน และสายเบ็ดจะเข้าไปติดขัด จะดึงกลับก็ไม่ไหว บางครั้งทางออกง่ายๆที่หน้างานก็คือการตัดทิ้ง หรือแม้กู้ดึงคืนขึ้นมาได้ก็อาจชำรุดจนไม่อยากซ่อม เลยโยนทิ้งลงน้ำไปก็มี

ที่ทิ้งลงไปมีตั้งแต่อวนเล็กๆ แหบางๆ ไปจนถึงระดับอวนอุตสาหกรรมก็มาก ใหญ่จนหนักเกือบตันก็มี

ดังนั้น ด้วยความทนของวัสดุเหล่านี้ มันจึงยังสามารถสร้างความเสียหายไปได้อีกนับหลายร้อยปี

ผู้ตระหนักถึงภัยของมันทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับสากลได้ช่วยกันทำบ้างแล้วก็คือ

รณรงค์ไม่ทิ้งวัสดุและเครื่องมือเหล่านี้ แต่ช่วยกันกวาดเก็บกลับมาทำลายอย่างถูกวิธีเพื่อมิให้มันออกไปอาละวาดทำลายสิ่งอื่นๆไปเรื่อยๆราวฆาตกรต่อเนื่อง

ในทะเลหลวงมีอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เอ่ยถึงเรื่องเหล่านี้

ในทะเลภายในก็มีกรมประมงร่วมกับสมาคมประมงต่างๆจัดกิจกรรมรณรงค์นำขยะทุกอย่างของเรือประมงกลับเข้าสู่ฝั่ง โดยเฉพาะแหอวนต่างๆที่ชำรุด มีการติดเครื่องหมายให้กับเครื่องมือประมง เพื่อให้แน่ใจว่าจะลดการทอดทิ้งลงน้ำได้ดีขึ้น

ในลำน้ำในแผ่นดินก็มีกิจกรรมเก็บขยะตามลำน้ำ ตามคูคลอง อย่างต่อเนื่อง แต่ส่วนมากมักเป็นกิจกรรมขนาดเบา ซึ่งต้องขอบคุณนักพายคายัค คนเล่นเรือเล็ก คนขับเจ้ตสกีที่มีจิตอาสา

ส่วนเทศบาลก็มีเรือที่พยายามนำเจ้าหน้าที่ออกไปตามเก็บเท่าที่จะพอทำกันได้

ธุรกิจสตาร์ทอัพใหม่ๆพยายามหาทางอัพไซเคิล รีไซเคิลขยะกลุ่มนี้มาเป็นสินค้าสร้างสรรค์ใหม่ๆ เช่นเอามาทำสินค้าแฟชั่น ตั้งแต่เสื้อผ้า กระเป๋า เป้ รองเท้ากีฬา บ้างก็สามารถเอาไปหลอมแล้วทอกลับเป็นเส้นใยที่เราจำหน้าตาของแหอวนเดิมไม่ได้เลย บ้างก็ยังรักษาบางส่วนให้เห็นเป็นตาข่ายหน้าตาเก๋ๆเพื่อให้รู้ว่าทำมาจากอะไร

แต่ราคาจากการทำการตลาดสินค้าเหล่านี้สามารถทำให้สินค้ามีมูลค่าเพิ่มได้ มากครับ เพราะสินค้ามีสตอรี่เรื่องรักษ์โลกติดมากับตัวมันเองเรียบร้อย

ในชุมชนไทยมีการนำขยะจากทะเลมาบดตัดอัดแผ่นทำรองเท้าแตะ หรือนำไปประกอบในสินค้าของที่ระลึกจากเมืองชายฝั่ง

ในระดับอุตสาหกรรมมีการนำไปหลอมเป็นวัสดุสำหรับหล่อเป็นเคสโทรศัพท์มือถือเก๋ๆ หรือทำของเล่นเป็นชิ้นบล้อคเล่นแทนการใช้แท่งไม้

แต่ที่ผมเห็นว่าได้ประโยชน์มากๆคือมีการนำแหอวนเก่ามาทำตาข่ายดักขยะผูกไว้ตามปลายทางระบายน้ำ ที่สามารถทำหน้าที่เหมือนถุงขยะที่น้ำไหลผ่านออกไปแต่ทุกสัปดาห์ก็สามารถให้เจ้าหน้าที่มารวบปากอวนนี้รูดเชือกปิดปากถุงแล้วยกออกไปคัดแยกเอาขยะที่ดักไว้ไปใช้ประโยชน์ใหม่

เปลี่ยนจากความอันตราย กลายเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมเสียเลย

อย่างไรก็ดี ขยะกลุ่มนี้ ยังเก็บกลับคืนมาได้น้อยมากๆครับ

เก็บขยะชายหาดครั้งหน้า ถ้ามีพลังจำกัด เราอาจยอมปล่อยพวก เปลือกแตงโม ซังข้าวโพด เศษกิ่งไม้ ขอนไม้ ไว้ก่อนแล้วหันมาโฟกัสกับเศษเชือกเศษอวน ก้นกรองบุหรี่ โฟม และบรรดาพลาสติกต่างๆกันให้มากๆครับ

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา

ที่มา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : แหและสายเบ็ด ขยะที่แสนอันตราย (isranews.org)

 ---------------------------------------------