ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

รมว.ท่องเที่ยวสมัย 3 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลิกกวัก-เน้นยั่งยืน (ชมคลิป)

วันที่ 4 กุมภาพันธ 2561 รมว.ท่องเที่ยวสมัย 3 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลิกกวัก-เน้นยั่งยืน (ชมคลิป) กลับมานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นสมัยที่ 3 ครั้งนี้เขาบอกว่าเลิกกวักมือเรียกนักท่องเที่ยวเหมือนที่ผ่านมา แต่จะมุ่งไปที่การทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน โดยการผ่าตัดยกเครื่องโครงสร้างใหม่ทั้งหมด

“เพราะท่องเที่ยวไม่ควรเอาชุมชนมารับใช้ แต่ควรจะไปรับใช้ชุมชน ถ้าคุณจับปรัชญานี้ได้ คุณจะเปลี่ยนมายด์เซตของการอยู่กับท่องเที่ยวมา 57 ปีได้ ถามว่าง่ายมั้ย ไม่ง่าย แต่ถามว่าควรทำหรือยัง ควรทำแล้ว”

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2508 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายวิชัย และนางนันทนา โควสุรัตน์

หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้ทุน AFS ไปหาประสบการณ์ในสหรัฐอเมริกา 1 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นนิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2532 ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยของ ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สมัยรัฐบาลของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ในทีมที่ปรึกษา “บ้านพิษณุโลก” ขณะที่ยังเป็นนิสิต โดยมีส่วนร่วมดูแลงานด้านนโยบายสาธารณะ

หลังจากรัฐบาลถูกยึดอำนาจ เขาไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอาจารย์และที่ปรึกษาบริษัทต่างๆ อยู่ 3-4 ปี ก่อนจะถูกทาบทามเป็นผู้อำนวยการสำนักวิชาการให้กับบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 ทำงานมากมายทั้งด้านการเมือง กฎหมาย สังคม ประวัติศาสตร์ รวมไปถึงเรื่องของสิทธิเด็กและสตรี ได้รับการยกย่องจากองค์กร UNIFEM ของสหประชาชาติ เป็นต้นแบบดีเด่นด้านการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง

9 ปีที่ผ่านมา หลังลงจากตำแหน่ง รมว.การท่องเที่ยวฯ ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในปี 2551 เขายังคงทำงานอยู่เบื้องหลังมาโดยตลอด และแล้วในการปรับคณะรัฐมนตรี “ประยุทธ์ 5” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2560 ชื่อของวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ก็เข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงคนใหม่

“การกลับมาเป็นรัฐมนตรีการท่องเที่ยวฯของผมในมุมของการทำด้านมาร์เก็ตติ้งคือ การทำมาร์เก็ตติ้งด้านความงาม เพราะความสวยมันขายด้วยตัวของมันเองมา 40 ปีแล้ว จนกระทั่งโทรมมากแล้ว แต่ความงามยังไม่ค่อยได้ขาย เพราะเรายังไม่ได้เล่าเลย กลองยาว ตะโพน กลองมโหระทึก เรายังไม่ได้ให้โอกาสได้เล่าเลย ถ้าเราหาวิธีให้รู้มากพอแล้วเล่าแล้วสนุกด้วย ผมคิดว่าโลกจะค่อยๆ รู้สึกว่า ไปหมู่บ้านทำกลองดีกว่า”

ที่มาของนโยบายเที่ยวเมืองรอง?

วันนี้เรามีลูกค้า 35 ล้านคนเท่ากับครึ่งหนึ่งของประชากรไทย ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ แค่นั้นจบแล้ว ผมถือว่าจะไม่กวักมือเรียกนักท่องเที่ยวนอกประเทศแบบนั้นอีกแล้ว เราพอแล้ว ต่อไปนี้มาพูดถึงเรื่องเราจะพาเขาไปที่ไหนบ้าง เพราะครึ่งนึงของ 35 ล้านกระจุกอยู่ในเมืองหลัก

ผมเห็นอาการนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ 9 ปีที่แล้ว ผมไม่มีจินตนาการว่ามันจะเป็น 35 ล้านในปีนี้ เพราะปีนั้นเรายังมีกีฬาสีอยู่ เอาแค่ 14 ล้านคนให้ได้ในปี 2551 ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว พอผมพานักท่องเที่ยวกลับบ้านได้หมด ยุบพรรค ผมพ้นจากตำแหน่ง ผมบอกว่านับแต่นี้เป็นต้นไป คนที่ออกไป 3.5 แสนคนคือทูตทางการท่องเที่ยวของเรา เหมือนกับตอนเกิดสึนามิ เขาเข้าใจว่ามันเกิดสิ่งที่ไม่สะดวกขึ้น แต่ไม่มีใครคิดจะทำร้ายเขา มีแต่ความยิ้มแย้มยืดหยุ่น ซึ่งเป็นดีเอ็นเอคนไทย ขณะที่รัฐหนักไปทางหย่อนยาน แล้ววัฒนธรรมเราบางส่วนก็ไปทางหยวนๆ อะไรก็ได้ มันจึงไม่ยั่งยืน

ผมมาคราวนี้ผมจึงประกาศธงมาก่อนเลย เรามาทำการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนกันเถอะ ก่อนนี้ผมเป็นประธานบอร์ด อพท. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผมได้เรียนรู้จากคำว่า “ยั่งยืน” จากที่นั่น แทบจะทุกพื้นที่ที่เขาบริหารกับชุมชนอยู่นั้น เขาได้ความยั่งยืนมาแล้ว มีความแข็งแรงพอที่จะบอกว่า ไม่ใช่เราแข็งแรงจนท่านมา 1 หมื่นคนเราก็รับได้ แต่เรายั่งยืนพอที่จะบอกปฏิเสธว่าท่านอย่ามา นี่ต่างหากที่ยั่งยืน

ตั้งใจมาก่อนที่จะได้รับการทาบทาม?

ผมก็ทำเรื่องนี้มาตลอด ตั้งแต่ออกไป ไม่ได้คิดอะไรหรอก แต่พรรคพวกในอุตสาหกรรมชวนผมมาทำนั่นนี่ไม่หยุดเลย ผมก็ทำให้มาเรื่อยๆ เป็นเลขาธิการสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ เป็นประธานบอร์ด ททท. เป็น สสปน. ผมเป็นอธิการของวิทยาลัยการท่องเที่ยวและบริการ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นกรรมการท่องเที่ยวแห่งชาติ เป็นกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ทั้งหมดนี้มันเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบริการในประเทศไทย เป็น ผอ.ไอทีดี สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาของอังค์ถัด ก็พูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน กลายเป็นว่าเราเห็นอะไร ไอ้นี่ไม่ใช่ ไอ้นี่ไม่ยั่งยืน แล้วก็จำไว้ถ้ามีจังหวะจะทำมัน ไม่นึกหรอกว่าจะต้องมาเป็นรัฐมนตรี

แต่เมื่อถูกขอให้มาร่วมรัฐบาล ก็คิดว่านี่คือ 100 เมตรสุดท้าย เพราะเขาประกาศแล้วนี่ว่าจะมีเลือกตั้งภายในอีก 1 ปี ก็ถือว่าแม้ผมจะต้องยอมสละตำแหน่งต่างๆ ทิ้งให้หมด 20-30 ตำแหน่ง ขายหุ้นให้เกลี้ยง เงินได้ที่เคยได้จะเหลืออยู่เพียง 1 ใน 5 แล้วก็บอกลูกเมียว่าอีก 1 ปีเจอกัน ไม่เกินนี้หรอก

1 ปีพอมั้ย?

ไม่พอหรอก อุตสาหกรรมนี้ค่อยๆ ก่อตัวมาโดยการรถไฟเมื่อ 58 ปีที่แล้ว ประเทศไทยไม่รู้จักการท่องเที่ยวหรอก จนการรถไฟมีแผนกการท่องเที่ยว และแผนกการท่องเที่ยวนี่เองที่ค่อยๆ อธิบายเรื่องนี้จนกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เห็นว่าน่าตั้ง อสท. องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แยกงานเหล่านี้ออกมาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ก็ยังไม่มีกระบวนการที่คิดจะรับนักท่องเที่ยวหรอกนะ ก็แค่บอกว่าเมืองไทยมีที่น่าเที่ยว ไปเดินทางกันเถอะ ไม่มีใครมีจินตนาการเลยว่ามันจะมาถึง 35 ล้านคน

จนมาถึง 2540 เราก็เพิ่งมีนักท่องเที่ยวไม่ถึง 10 ล้าน แต่ชัดเจนว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเริ่มเปลี่ยนจากลูกอมเม็ดเล็กๆ ที่ปลายโต๊ะเป็นขนมหวาน พอผมมาเป็น รมว.ปี 2550-2551 การท่องเที่ยวเริ่มกลายเป็นของหวานที่สำคัญแล้ว วันที่ผมก้าวออกไปผมรู้แล้วว่าจานนี้จะโตเรื่อยๆ แล้วแนวโน้มคือพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะโตขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะคนอื่นๆ แห่กันมา แต่เพราะเราจะแห่เที่ยวกันเอง วันนี้เราพูดได้เต็มปากเต็มคำแล้วว่าแหล่งท่องเที่ยวที่ใหญ่เท่าจีน คืออาเซียน เพราะเขาคือ 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามา อีก 30% คือจีน ที่เหลือคือนักท่องเที่ยวอื่นๆ ปนกันทั่วโลก และที่ใหญ่พอกันคือ คนไทย

เหมือนการท่องเที่ยวที่ผ่านมาได้มาเพราะโชคช่วย เรายังไม่ได้บริหารเต็มที่?

จนกระทั่ง 15 ปีที่แล้ว เราหนักกว่านั้นอีก ยุครัฐบาล 2545-2546 ตัดสินใจสร้างกระทรวงใหม่ 5 กระทรวง ไม่มีกระทรวงท่องเที่ยว การตั้งกระทรวงต้องตั้งเป็นพระราชบัญญัติ ก็อุ้มพระราชบัญญัติท้องแฝด 5 ไปรัฐสภา ผ่านสภาผู้แทนราษฎรสบายๆ แต่พอถึงวุฒิสภา ไม่ยอมให้คลอดได้ง่ายๆ ถ้าไม่ให้กระทรวงที่ 6 เขาขอกระทรวงกีฬา แต่ตอนนั้นไม่มีใครนึกว่าจะมีไทยไฟต์ ไทยพรีเมียร์ลีก ในเมื่อการกีฬาต้องเดินออกมาจากทำเนียบมารวมกับกรมพละ ที่สุดก็เอาการท่องเที่ยวไปแปะกับการกีฬา แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ทุกกระทรวงล้วนมาแต่กรมเก่า คนเดิม งานเดิม รื้อป้ายเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ ไม่มีตึกก็ไปเช่าเอา ผมถูกส่งไปกระทรวงการพัฒนาสังคมเป็นคนแรกจึงได้รู้ว่าการตั้งกระทรวงใหม่มันเป็นอย่างนี้นี่เอง คือตั้ง รมว.ก่อนแล้วค่อยไปควานหาปลัดกระทรวง และปลัดกระทรวงก็ไปชี้หาอธิบดี มันเริ่มจากข้างบนลงล่าง

พอมาถึงกระทรวงที่ 6 ก็มันเกิดมาจากสายกรมพละ มีแต่ข้าราชการกีฬา ไม่มีใครรู้เรื่องท่องเที่ยว ถึงได้รู้ว่าข้าราชการไทย 2 ล้านคนไม่เคยถูกเทรนด้านการท่องเที่ยวแม้แต่คนเดียว ปลัดกระทรวงรุ่นแรกๆ จึงต้องอิมพอร์ต เอาคุณจเด็จ อินสว่าง มาจากมหาดไทย คุณศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ อดีตทูตไทยที่วอชิงตัน หลังจากนั้นจึงเป็น ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ มาเป็นปลัดในช่วงขิงแก่ แปลว่าตั้งกระทรวงมายังไม่ทันได้พิสูจน์ความสำเร็จอะไร ทหารยึดอำนาจไปแล้วปี 2549

ผมมาเป็นสมัยคุณสมัครเป็นนายกฯ กระทรวงเพิ่งมี 4 ปีครึ่ง ฉะนั้นไม่ใช่เวลาที่ผมจะผ่าตัดอะไรทั้งสิ้น ว่าแล้วกีฬาสีก็มาแล้ว กวักก่อนอย่าให้นักท่องเที่ยวมันฟุบล้มลงไป

ฉะนั้นมี 2 เรื่องที่ผมมาที่นี่ 1.เป้าหมายของการท่องเที่ยวคือ การลดความเหลื่อมล้ำ เพราะนั่นคือสาเหตุที่เราทะเลาะกันทางการเมืองมา 10 กว่าปี และมันก็กลายเป็นตัวเลขในโลกไปแล้ว ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3-4 ประเทศ ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก คนรวยที่สุดกับจนที่สุดอยู่ห่างกันเหลือกัน รวยสุด 20% ครองสินทรัพย์ครึ่งหนึ่งของประเทศ ส่วนอีก 20% สุดท้ายแบ่งเบียดพื้นที่แค่ 4% ของประเทศ ก็ต้องรบกันแน่นอน ผมจึงมองว่านอกจากท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืน ต้องเอาการท่องเที่ยวมาเป็นตัวตั้งเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

แต่ถ้าเราทำให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน แม้จะได้ไม่เท่ากัน แต่ก็จะมีที่ “ไม่คิดว่าเธอจะได้แต่เธอก็ได้” แม่ค้าขายถั่วต้มอยู่หน้ามาบุญครองก็ขายได้ เพราะคนซื้อมาถึงหน้าแม่ค้า ถ้าเราคิดแบบนี้จะเห็นว่าแม้นตัวเล็กที่สุดมีฝีมือน้อยที่สุดก็อุตส่าห์ขายได้ ท่องเที่ยวควรจะเป็นเครื่องมือใหม่ของชาติในการลดความเหลื่อมล้ำ

“…ถ้าเราทำให้เป็นการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
แม้จะได้ไม่เท่ากัน แต่ก็จะมีที่
‘ไม่คิดว่าเธอจะได้แต่เธอก็ได้’
ท่องเที่ยวควรจะเป็นเครื่องมือใหม่ของชาติ
ในการลดความเหลื่อมล้ำ…”

เอากำลังภายในมาจากไหน?

ไม่มีเลย แต่ที่ขายได้เพราะยิ้มแย้มกับยืดหยุ่นของคนไทยนี่ไง กับความสวยนี่ไง ยังไม่ขายความงามเลยนะ ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐบอมบ์เวียดนาม มีรายงานข่าวจากเวียดนามทุกวัน เอพี เอเอฟพี รอยเตอร์ บีบีซี This is BBC reported from Bangkok Thailand ไม่ต้องทำอีเวนต์เลย (หัวเราะ) คนทั้งโลกเขาก็รอเฝ้าดูลูกหลานที่ไปรบที่เวียดนามว่าเป็นอย่างไร

คนทั้งโลกจำแบงค็อก ไทยแลนด์ได้ โดยที่เราไม่ต้องจัดอีเวนต์เลย พอพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแป๊บเดียว มีทีวี เกิดวัฒนธรรมการนั่งดูทีวีด้วยกัน มันจึงเกิดบทสนทนาเรื่องแบงค็อก ไทยแลนด์ อุตลุดไปหมดโดยที่เราไม่รู้เรื่องเลยว่าเขาพูดเรื่องเรามาอีก 20 ปีฟรีๆ เพราะเราเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการรายงานข่าวเกี่ยวกับสงครามเวียดนาม ดังนั้น เห็นไหมครับว่า unplanned แต่มาได้เป็นที่ 3 ของโลก

ต่อจากนี้?

ต่อจากนี้คือ Let’s planted อะไรคือแพลนที่ว่า เราก็เห็นแล้วใช่ไหมว่าปริมาณเป็นปัญหา เป็นรอยยิ้มชั่วคราว แต่จะเป็นเรื่องทุกข์ใจไปนาน ขยะพลาสติกลงทะเลในประเทศไทยเป็นอันดับ 4-5 ของโลกแล้ว โทษนักเที่ยวเดี่ยวๆ ไม่ได้หรอก แต่ก็มีส่วนมาจากนักท่องเที่ยวไม่น้อย เพราะรวมแล้วเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรไทย เพราะฉะนั้นจะบอกว่าทั้งหมดมาจากประชากรไทยคนเดียวคงไม่ใช่ เรามารับผิดชอบกันเถอะ

ในขณะเดียวกัน เราเองไม่ได้โตมาเดี่ยวๆ แล้ว ต่อไปนี้เราอยู่ในอาเซียน เราไปช่วยกันกับอาเซียน เพราะทุกวันนี้จะขายแต่ภาพสวยของประเทศไทยเฉยๆ นั้น มันก็มีที่อื่นในโลกสวยเช่นกัน ไปเอาที่สวยของแถวๆ นี้มาช่วยถ่ายภาพส่งออกไปให้เขาดู เพราะยังไงก็ไม่บินตรงไปที่นั่นหรอก ก็บินผ่านเข้ามาไทย เพราะเป็นฮับที่ใหญ่ที่สุดโดยสภาพไปแล้ว

กระทรวงต้องทำอะไรบ้าง วางยุทธศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา ประสานสิบทิศ?

ควรจะเป็นอย่างนั้น แต่มันไม่ได้ถูกเทรนนิ่งมาอย่างนี้ เพราะ 15 ปีที่ผ่านมา มัวแต่วุ่นวายกับการโตในทางราชการ หมดเวลาไปกับเรื่องพวกนี้เยอะมาก ผมจึงมองว่า นี่แหละ ถ้านี่คือสิ่งที่เราคิดว่าประเทศไทยจะรุ่งเรืองต่อไปแบบนี้ เรามาทำให้กระทรวงมีความสามารถในฟังก์ชั่นเรื่องแบบนี้ต่อไปดีไหม อย่าปล่อยให้ประชาชน โตไปตามยถากรรมเลย

กรณีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากเกิน อย่างกระบี่ ภูเก็ต?

ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวใดที่ขึ้นกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯเลย หาดทั้งหมดในประเทศไทยขึ้นกับ อบต. ตลาดร้อยปีขึ้นกับเทศบาล ภูเขาทั้งหมดขึ้นกับกรมป่าไม้ กับกรมอุทยานแห่งชาติ แม่น้ำทั้งหมดขึ้นกับกรมเจ้าท่า จะลงเรือก็กรมเจ้าท่า ลงทะเลก็กรมอุทยานทางทะเล กรมทรัพยากรชายฝั่ง ไม่มีอะไรเหลือถึงที่กระทรวงสั่งได้สักเรื่องหนึ่ง

ถามว่าคนแน่นเกาะ ผมปิดเกาะเองได้ไหมล่ะ ไม่ได้ เมื่อไม่ได้ก็ต้องไปทำการศึกษาแล้วว่า ในโลกนี้นอกจากการห้ามคนขึ้นเกาะแล้วยังมีวิธีใดบ้าง เช่น ถ้าเกาะนี้รับได้ 400 คนต่อวัน ต้องคิดโครงสร้าง 400 คนแรกราคาเท่านี้ 401-450 คน อัตราต้องสูงขึ้นอีกเท่าตัวไหม แล้วถ้าคนที่ 451-500 ต้องแพงขึ้นอีก 3 เท่าตัว ดูสิว่าจะกล้ามาอีกไหม มันมีวิธีคิด แต่เราไม่สามารถสั่งได้ แต่มันต้องไปเพิ่มวิธีคิด เพราะที่ผ่านมายังไม่ได้คิดอะไรเลย รู้แต่ว่าไม่ชอบใจก็บ่นๆ แต่ไม่มีใครคิดจะทำอะไร

ภารกิจร้อยแปดกับบุคลากร 130 คน?

ผมจึงมาเพื่อถอดภารกิจบางอย่างของกระทรวงออก กรมการท่องเที่ยว ถ้าใครไม่ไปอ่านกฎกระทรวงคงไม่รู้ กรมนี้มีคนเอาไว้ดูแล พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งประเทศไทยกว่า 4,300 แหล่ง ให้คนมา 130 คน และให้นั่งแต่ในกรุงเทพฯ ผมมาผ่าตัดตรงนี้

2.คือให้ไปพัฒนาบริการการท่องเที่ยว ภัตตาคาร โรงแรม ยังมีดาว แล้วรถนำเที่ยว ไกด์ มีดาวได้ไหม มีได้ หน้าที่ที่ 3 ดึงดูดกองถ่ายภาพยนตร์เข้ามาจากต่างประเทศ ปีหนึ่งมา 700 กองถ่าย ผมจะเอาอันนี้ไปคุยกับท่านวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ท่านมีคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ยังไม่มีกองภาพยนตร์เลย เอากองภาพยนตร์ไหม ยกภารกิจกองนี้ไปไว้ที่ท่าน

พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวก็ยังให้ 130 คนนี้พัฒนาอีก เอามาเถอะ เดี๋ยวให้มหาวิทยาลัยช่วยทำ ให้สถาบันการศึกษาช่วยกันทำ เอามาทำกับสำนักงานปลัดกระทรวงก็ได้ เรายังมีหน้าที่นายทะเบียนบริษัทนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ใน 130 คน มี 80 คนที่ทำหน้าที่ตรวจเอกสาร ตกลงว่าหน้าที่ที่ประชาชนคาดหวังก็ไม่ได้ทำ สภาทนายความมี พ.ร.บ.สภาทนายความ ให้เขาไปจัดการ คนของผมจะได้ไม่ต้องมาทำงานเรื่องนี้

บริษัทนำเที่ยว เราจะคุมทุกอย่างเลยเพียงเพราะเรามีประเภททัวร์เถื่อน ทิ้งลูกค้า เปลี่ยนเป็นระบบประกันไหม ไปจดทะเบียนที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป็นนิติบุคคล ใส่ระบบดาวเข้าไป ซื้อประกันสูงเท่าไหร่ได้ดาวเท่านั้น แปลว่าการันตีว่าคุ้มครองผู้บริโภคของคุณ ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วคน 130 คนจะได้วางของหนักๆ ลงบ้าง ผมกำลังไปหาส่วนราชการที่ถูกยุบ แต่ข้าราชการยังลอยล่อง สมัครมาทำงานที่กระทรวงกับผม ย้ายมาทั้งหนี้สินและทรัพย์สินแล้วมากองๆ รวมกัน ได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี จะได้มาช่วยผมคิดว่าจะประสานยังไงให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

หลังจากครบ 1 ปีรัฐบาลนี้แล้วจะไปอยู่ตรงไหน?

เมื่อ 1 ปีที่แล้วผมยังนึกไม่ออกว่าผมจะไปอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นปีหน้าผมยังนึกไม่ออกว่าผมจะไปอยู่ตรงไหน แต่ว่าเมื่อมันจบภารกิจผมก็จะหันมาถามตัวเองว่า ใน 1 ปีที่ผ่านมาผมได้ทำทุกอย่างที่ดีที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ทุกวันหรือไม่ ถ้าใช่แล้วผมจะไปอยู่ที่ไหนไม่สำคัญแล้ว เพราะว่าผมก็จะมีความสุข

เมื่อตอนหนุ่มอยากเป็นอัยการ ยังมีความคิดนี้อยู่มั้ย?

คิดมาตั้งแต่เด็กแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคิดอยู่ แต่ตอนนั้นมันออกจะแก่เกินไปหน่อยแล้วนะ (หัวเราะ)

 

 

 

 

 

ที่มา รมว.ท่องเที่ยวสมัย 3 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลิกกวัก-เน้นยั่งยืน (ชมคลิป) (matichon.co.th)

---------------------------------------------