ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ : จักรยาน-รถไฟ-เรือประมง และท่าฉลอม (ตอนจบ)

วันอาทิตย์ท่ี 20 กุมภาพันธ์ 2565 วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกิจกรรม ปั่นจักรยานเชิงอนุรักษ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวสีเขียว และเศรษฐกิจฐานราก 
หลังอำลารูปปั้นปูนของสาวนาเกลือหน้าหวานแล้ว คณะปั่นจักรยานเยือนชุมชนของเราพบว่า เราฟังบรรยายเรื่องเล่าของชาวนาเกลือและนก Spoonbilled Sandpiper ฝูงที่บินย้ายถิ่นหนีหนาวจากไซบีเรียจนเพลิน ยิ่งพอทราบว่า IUCN หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ประกาศให้นกนี้เป็นสัตว์ใกล้ภาวะสูญพันธุ์อย่างยิ่ง คือ อีกนิดนึงก็จะเหลือให้เห็นเฉพาะในที่เพาะเลี้ยงแล้ว หาในธรรมชาติไม่มีอีกต่อไป

เราถอนใจเฮือกใหญ่ แม้ส่วนลึกจะแอบตื่นเต้นที่อย่างน้อยนกฝูงนี้ก็จะมาสมุทรสาครทุกปี เราทุกคนจึงควรช่วยถนอมให้เค้าอยู่ต่อได้ด้วยการศึกษาให้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เค้าตกอยู่ในสถานะนั้นแล้วช่วยทำสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้อีกเผ่าพันธุ์รอดต่อไปได้ รู้ตัวอีกที….เลยเวลานัดหมายที่ควรต้องปั่นเข้าที่หมายถัดไปเกือบ 30 นาที นี่คืออาการอันเป็นปกติเสมอของการท่องเที่ยวชุมชนครับ

เพราะเมื่อใครได้เข้าไปสัมผัสเรื่องประทับใจเกินคาดของชุมชนและหรือเที่ยวชมธรรมชาติ ยังไงๆก็จะมีอาการเหมือนต้องมนต์ เกิดการละเลียดลิ้มรสจนเกินเวลาไปได้ง่ายๆ ดังนั้นผู้วางกำหนดการจึงมีความท้าทายเสมอในการช่วยบริหารเวลา

หัวหน้าคณะ ’’จักรยานหรรษา‘’ จึงพาพวกเราออกปั่นมุ่งท่าน้ำติดกับ โบสถ์วัดโกรกกราก ทันที เส้นทางปั่นยาวๆ คราวนี้มีขึ้นลงสะพานใหญ่ที่สูงพอให้รถใหญ่ๆ ลอดข้างใต้ เราปั่นเลาะเลียบแนวคลองไปเรื่อย วิวข้างทางค่อยๆ เปลี่ยนจากชนบททุ่งนาเกลือ เป็นแนวร้านรวงถี่เข้าถี่เข้าจนเป็นชุมชนห้องแถวในเมืองสมุทรสาครเต็มรูปแบบ

คุณมงคล ผู้ชวนผมมาร่วมทริปปั่นจักรยานหนนี้ และหยิบยืมจักรยานของพรรคพวกที่เป็นผู้บริหารในสภาจังหวัดมาให้ผมปั่น พาผมแวะสำรวจทางลาดและห้องน้ำของวัดที่เราผ่าน ห้องน้ำของวัดใหญ่โตดีมีทางลาดที่ไม่ชันนักอยู่ด้านหน้า แต่เนื่องจากติดลานจอดของวัด ทางลาดหน้าห้องน้ำนี้เทลงหาลานกว้างซึ่งย่อมมีรถแล่นผ่านไปมา

ผมจึงทักว่าทางลาดแบบนี้หากมีชานพักหน้าห้องน้ำพอที่ผู้ใช้รถวีลแชร์รวมทั้งรถเข็นเด็กสามารถจอดนิ่งๆ ได้โดยไม่ไหลลงไปสู่บริเวณที่จะมีรถผ่านจะปลอดภัยขึ้นอีกมากเชียว ภายในห้องน้ำกว้างพอที่วีลแชร์จะหมุนกลับตัวไปมาได้ ประตูแบบบานเลื่อนในวงกบกว้างกว่า 90 ซม. จึงหายห่วงเรื่องรถเข็นคันกว้างจะเข้าไม่ได้

เสียดายที่ใกล้ชักโครกมีขั้นซีเมนต์กันน้ำไหลนองออกมาอีกแนวขวางอยู่ จุดเหล่านี้มักมาจากที่ช่างท้องถิ่นยังไม่เคยมีประสบการณ์นั่งรถเข็นพาตัวเองเข้าไปทำธุระในห้องน้ำสาธารณะ จึงทำให้ความตั้งใจที่ดี ยังมีจุดควรแก้ไขอยู่เสมอ อุปสรรคสำหรับมนุษย์ล้อ ไม่ว่าจะเด็กอ่อนในรถเข็นหรือผู้สูงวัยที่แขนมีแรงน้อย ยังเป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์กันต่อไป 

อารยสถาปัตย์จงเจริญ

คุณมงคลรับจะนำความไปเล่าให้สมภารฟัง เพราะพอจะเคยคุยกันอยู่ จากนั้นเราปั่นไล่ตามไปจนทันคณะที่ท่าน้ำข้างวัดโกรกกราก

วัดโกรกกราก เป็นวัดโบราณ มีพระพุทธรูปศิลาปางมารวิชัย เจ้าอาวาสสมัยราว 70 ปีก่อน เคยนำแว่นมาสวมให้พระพุทธรูป เพราะต้องการสกัดไม่ให้ชาวบ้านเอาแผ่นทองมาปิดตาพระพุทธรูป ตำนานเล่าว่าคราวโรคตาแดงระบาดในถิ่น หมอยุคนั้นรักษายังไงก็ไม่หาย มีผู้เอาทองเปลวไปบนแล้วปิดที่ตาพระพุทธรูป ไม่นาน โรคตาแดงก็อันตรธานไป คนจึงแห่กันจะมาบนเพื่อปิดทองจุดเดียวกันบ้าง เจ้าอาวาสสมัยนั้นเลยหาแว่นมาสวมให้พระพุทธรูปเพื่อสกัดไว้ ไปๆมาๆคนเลยนิยมหาแว่นกันแดดมาถวายแทน ทางวัดไม่อยากขัดศรัทธา มีแว่นเปลี่ยนให้พระพุทธรูปหลายอันด้วยซ้ำ

เรื่องนี้มีเกร็ดเล่าอีกหลายแบบ แต่ชาวเรือนับถือหลวงพ่อปู่แว่นดำนี้นัก ผู้อ่านที่สนใจอาจค้นอ่านเพิ่มเติมในออนไลน์ได้ 
 
ขอเล่าการเดินทางของชาวจักรยานเราต่อ ที่ท่าน้ำติดโบสถ์ เราทุกคนเข็นจักรยานลงเรือข้ามฟากลำยาว ได้ครบทุกคัน ผู้โดยสารอื่นก็ลงตามเข้าไป มีเอามอเตอร์ไซค์ลงเรือกันด้วย เรือหมุนหัวแล้วแล่นตัดน้ำมาส่งอีกฝั่งในอึดใจเดียว

เราปั่นออกจากท่าไปตามทางอีก10กว่านาทีก็ถึงร้านอาหารติดแม่น้ำที่นัดแนะกันไว้ ที่ร้านมีเรือประมงมาจอดเอาแหอวนขึ้นเก็บ มีลูกเรือชาวเมียนมาร์ช่วยกันจัดการแข็งขัน แกร้องตะโกนขึ้นฝั่งมายังพวกเราอย่างอารมณ์ดีว่าสวัสดีปีใหม่ค้าบ

คงเห็นพวกเราแต่งตัวแปลกตาดีนั่นแหละ พวกเรายกมือทักทายร้องสวัสดีกลับไปอย่างมีไมตรี คนงานยิ้มพอใจแล้วจัดการม้วนเก็บอวนกันต่อไป

แม่น้ำท่าจีนนั้นที่จริงต้นทางไหลแยกมาจากเจ้าพระยาที่ชัยนาทโน่น ตอนแยกออกมาเรียกแม่น้ำมะขามเฒ่า พอผ่านสุพรรณบุรีเรียกแม่น้ำสุพรรณบุรี พอผ่านนครปฐมถูกเรียกใหม่ว่าแม่น้ำนครชัยศรี ครั้นไหลถึงสมุทรสาครจึงเรียกว่าแม่น้ำท่าจีน นับว่าเป็นแม่น้ำหลายนามน่าดู

ชื่อท่าจีนเพราะที่นี่ติดปากอ่าว ในอดีตมีชาวจีนนำเรือสำเภามาบ่อยๆ จนเรียกกันว่าบ้านท่าจีน แล้วค่อยถูกยกฐานะมาเป็นเมืองท่าจีน แล้วยกอีกตามลำดับจนชื่อสาครบุรี แล้วเป็นสมุทรสาคร ในที่สุด

ท่าฉลอม เมืองสมุทรสาครนี้ ได้รับการยกขึ้นเป็น สุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกของประเทศสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย แปลว่ามีแววดังมานานแล้ว ที่นี่ปัจจุบันเป็นย่านเรือประมงนำปลากุ้งหมึกที่จับจากทะเลมาขึ้นฝั่งกันมาก เศรษฐกิจประมงจึงนำพาให้อุตสาหกรรมสารพัดตามมาตั้งกันที่นี่ และเพราะมีทั้งงานประมงและงานโรงงานต่อเนื่องกันเป็นทอด ที่เมืองนี้จึงมีแรงงานต่างด้าวมาเข้าทำงานเยอะกว่าที่อื่นๆ

อาหารทะเลเป็นซิกเนเจอร์สำคัญของที่นี่มานาน คณะปั่นจักรยานของเราจึงได้อิ่มกับอาหารทะเลสดๆ กันตามระเบียบ จากนั้นปั่นต่อเข้าถนนย่านชุมชนเก่าแห่ง ‘’ท่าฉลอม’’ ปั่นเข้าไปเยี่ยมสถานีรถไฟบ้านแหลม ที่นั่นเป็นต้นทางรถไฟที่มุ่งสู่แม่กลอง ผนังกำแพงฝั่งตรงข้ามสถานีรถไฟเป็นของวัด มีคนมาวาด Street Art เอาไว้ หลายรูปทำให้มีสีสรร มีชีวิตชีวาขึ้นแยะ

จากนั้นปั่นผ่านวัดแหลมสุวรรณาราม มีพระพุทธรูปปูนทรงเครื่องขนาดใหญ่ แต่ฝนใกล้จะตกลงมา ผมไม่มีเวลาลงเดินสำรวจเอง จึงขอแนะนำผู้อ่านให้ดูเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัดแหลมสุวรรณารามที่ www.visitsk.org/?p=10879 เพราะมีเรื่องและภาพสวยๆ ตลอดจนคลิปดีๆเกี่ยวกับวัดนี้ให้ได้ชม แล้วจะรู้ว่าโบสถ์ไม้ศิลปะผสมไทยจีนยุคโบราณนั้น …น่ามอง

เรามาปิดทริปกันที่ ‘’พิพิธภัณฑ์บ้านท่าฉลอม ‘’ซึ่งดัดแปลงจากบ้านริมแม่น้ำของอดีตเจ้าของกิจการประมง ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ประธานวิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง ที่นี่ ดร.สุวันชัยในวัยเพิ่งจะเกษียณมาพาเดินนำชมและบรรยายประวัติของเมืองท่าฉลอมให้ฟังอย่างน่าสนใจ

ท่าฉลอมมีลักษณะคล้ายบางกะเจ้าคือแม่น้ำใหญ่ไหลล้อมจนเกือบเป็นเกาะ ทำให้มีที่ดินติดแม่น้ำเยอะไปหมด จึงสามารถมีท่าจอด ท่าซ่อมเรือแยะ และเลยมีเรือประมงแวะเข้ามาบ่อยจนกลายเป็นจิตวิญญาณหลักของพื้นที่นี้

ท่าฉลอมนั้นไม่ได้เริ่มดังเพราะส่งปลาขึ้นฝั่งเยอะเท่านั้น แต่ที่พาให้ท่าฉลอมดังกว่าก็คือเพลงของนักร้องชรินทร์ นันทนาคร ที่ร้องตำนานรักของหนุ่มท่าฉลอมหลงรำพึงถึงสาวมหาชัย เพลงนี้ติดหูคนหลายเจเนอเรชั่นทีเดียว

Soft Power นั้นประมาทไม่ได้เลยครับ พาให้ท่าเรือสองฝั่งกลายเป็นจุดอยากมาเห็นของคนไทยจำนวนไม่น้อยจริงๆ ‘’ฉลอม’’เป็นเรือแบบหนึ่งที่หัวท้ายงอนเรียวสูงชันขึ้นแต่ป่องกลางลำเรือเพื่อใช้บรรทุกของหรือหาปลาตามชายฝั่ง มีทั้งแบบเสาเดี่ยวและสองเสา หน้าตาคล้ายเรือสมัยเราวาดตอนเด็กๆยังไงยังงั้น ส่วนเรือตังเก เป็นเรือออกหาปลาไปไกลหน่อย มีเก๋งเรือขึ้นไปสูงไว้เฝ้าดูฝูงปลาและจะมีไม้ไผ่ลำยาวๆมากมายบนเรือเพื่อใช้ตากอวน

ที่พิพิธภัณฑ์บ้านท่าฉลอมนี้มีตัวอย่างข้าวของที่ใช้ในเรือประมงรุ่นเก่าหลายๆอย่าง มีวิวที่ทำให้เรามองเห็นท่าเรือข้ามฟากของฝั่งมหาชัยอันโด่งดัง เห็นสถานีตำรวจของตำรวจน้ำ สถานีเรือดับเพลิงของเทศบาล เห็นป้อมกำแพงโบราณทาสีขาวที่สร้างในยุคต้นรัตนโกสินทร์ไว้ป้องกันผู้รุกรานทางน้ำ

เรือประมงที่ท่าฉลอมวันนี้บางตาไปมาก
บรรยากาศบ้านเมืองแม้จะเก่าแต่ดูสะอาดสะอ้านดี ผมเชื่อว่าที่นี่จะกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวชุมชนทางน้ำที่สำคัญอีกแห่งใกล้เมืองหลวงได้ไม่ยาก

เอาจักรยานขึ้นรถไฟจากบางกอกน้อยแล้วมาลงปั่นเที่ยวเยี่ยมดูชุมชนฝั่งมหาชัย ก่อนเข็นจักรยานลงเรือข้ามฟากมาท่าฉลอม เที่ยวต่อก็สะดวกสบายและได้เสน่ห์ดี

ก่อนกลับ หัวหน้าคณะปั่นจักรยานขอให้ผมขึ้นกล่าวอะไรเล็กน้อยกับเพื่อนร่วมคณะ จำได้ว่าตอนหนึ่งผมบอกว่า’’ …เวลาชาวบ้านเห็นจักรยานหน้าตาทันสมัยปั่นกันช้าๆเข้าไปในชุมชนเขา ชุมชนนั้นจะรู้สึกดี เพราะจักรยานที่ปั่นช้าๆเหล่านั้นมักจะมาอย่างมิตร และจะเป็นผู้นำความประทับใจดีๆออกไปบอกคนนอกชุมชนได้ตรงกับความจริงมากกว่าคนแล่นรถผ่านเท่านั้นเสมอ…’’

ดีใจที่เราได้ร่วมทำกิจกรรมดีๆกัน และขอให้ช่วยนำเรื่องน่ารักของย่านที่เราปั่นผ่านไปบอกกล่าวให้คนอื่นๆรู้กันต่อไป… หมึกย่างสักตัว ขนมท้องถิ่นสักถ้วย ก็สามารถช่วยให้ชีพจรของคนถิ่นในยุคโควิดมีกำลังใจเพิ่มได้เสมอ…

ต้องขอบคุณ คุณศรีศักดิ์ วัฒนพรมงคล นายกสมาคมกีฬาจังหวัดและสมาชิกวุฒิสภาแห่งสมุทรสาคร ที่เอาลอดช่องไปฝากพวกเราทานที่กรุงเทพบ่อยๆ แถมเมื่อท่านทราบว่ามีกลุ่มกิจกรรมดีๆเข้ามาในพื้นที่ ท่านก็มีน้ำใจมาทักทายให้พรแต่เช้าตรู่ตั้งแต่คณะจะปล่อยตัวแถวจักรยานที่หน้าศาลพันท้ายนรสิงห์พร้อมมอบตะกร้าขนมท้องถิ่นอย่างอบอุ่น

จำได้ว่าผมรับปากท่านว่าผมจะกลับมาช่วยท่านในกิจกรรมกีฬาและกิจกรรมเก็บขยะที่ป่าชายเลนที่นี่ ซึ่งคงเป็นกิจกรรมที่ท้าทายอย่างสุดๆ ถ้าได้ลุยกิจกรรมนี้เมื่อไหร่จะไม่พลาดที่จะนำมาเล่าให้ได้อ่านอีกครับ


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

---------------------------------------------