แนะรัฐจ้างงานเอกชนฟื้นเศรษฐกิจ-หาวิธีอื่นนอกจากแจกเงิน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภาคที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับแรกๆคือ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเชื่อว่าจะเป็นภาคท้ายๆที่จะมีการฟื้นตัว ซึ่งหลังจากธุรกิจการบินเริ่มทำการบินก่อนจากนั้นจึงจะเริ่มป้อนลูกค้าให้กับธุรกิจโรงแรมและอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว กลับมาได้ ต้องให้ความเห็นอกเห็นใจในวิกฤตินี้อย่างมาก
ทั้งนี้ แม้ว่าไม่มีใครเตรียมตัวมาเจอปัญหาระดับใหญ่ขนาดโควิด-19 นี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนประเทศไหน โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นประเทศที่รับนักท่องเที่ยวจีนสูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ในแง่จำนวนคน ซึ่งต้องชื่นชมกระบวนการด้านสาธารณสุขของไทยรับมือได้ขนาดนี้และมีตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก กระบวนการคัดกรองและการรักษาน่าพึงพอใจอย่างมาก
สำหรับ แนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคท่องท่องเที่ยวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบันนั้น อำนาจของระบบราชการมีความเข้าใจในอุตสาหกรรมเดินทางท่องเที่ยวไม่มากนัก ดังนั้นเวลาที่ประกาศอะไรออกมาแล้วนั้นจะนึกไม่ออกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจะต่อไปถึงอะไรบ้าง ดังนั้นกระบวนการที่เป็นปัญหาอยู่และปัญหาที่ใหญ่มากสำหรับการบริหารจัดการนี้ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีอำนาจการตัดสินใจคือ “การรับฟัง” จากภาคประชาชน อาจจะยังไม่เต็มที่ ส่วนหนึ่งอาจจะยังวุ่นอยู่กับการจัดการโรคอยู่
ขณะที่ วิธีการคิดในขณะนี้อาจจะคิดเฉพาะการช่วยเหลือแก้ไขเพียงบางส่วน ไม่ได้คิดทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการบริการอาหาร จัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง รวมถึงโรงแรม เมื่อผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในวงกว้างแต่ขณะเดียวกันแนวทางการช่วยเหลือมีเพียงบางส่วน ยกตัวอย่าง ประกันสังคม ก็จะพิจารณาแต่เฉพาะคำสั่งของรัฐที่ประกาศแล้วเท่านั้น ทำให้มองเห็นภาพการสื่อสารของหน่วยงานรัฐต่อหน่วยงานรัฐ และหน่วยงานรัฐต่อระบบซัพพลายเชนของเอกชนแปลว่าความรู้ไม่มากพอ แต่เวลานี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปิดระบบการรับฟังแล้ว Learning By Doing ไปพร้อมกัน เมื่อรับฟังเสร็จแล้วก็เอาไปเสียบปลั๊กในที่ต่างๆ ของระบบราชการให้ตรงจุด ซึ่งเมื่อรับฟังแล้วจะได้รับรู้ข้อจำกัดของกันและกันทั้งภาครัฐและเอกชน
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนเรียกร้องกับรัฐมาตลอดเวลาเกิดวิกฤติซึ่งความช่วยเหลือที่อยากได้คือ สภาพคล่อง ตัวอย่างเช่น เอกชนไม่ได้ต้องการเงินกู้ทีเดียว 10 ล้านบาท แต่แค่ต้องการสภาพคล่อง 2-3 ล้านบาท แต่สิ่งที่รัฐให้มาคือให้น้ำมาตุ่มหนึ่งแล้วให้เอกชนไปตักกันเอง เมื่อเอกชนไปตักกันเองแล้วก็จะเจอกับผู้บริหารสถาบันการเงินซึ่งก็ไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมการบริการและท่องเที่ยว ก็จะต้องมีการตั้งเงื่อนไขให้แสดงต่างๆมากมายสุดท้ายความช่วยเหลือก็ไปไม่ถึงอยู่ดี
นอกจากนี้ รัฐควรหาวิธีนอกจากการแจกเงินให้ประชาชน ควรต้องหาการจ้างกิจการให้มาก เช่น จ้างงานของแรงงานในภาคการ ท่องเที่ยว เพื่อดูแลส่วนต่างๆ โดยเฉพาะคนไทยที่เดินกลับจากต่างประเทศเหล่านี้ต้องมีกระบวนการต่างๆ มากมาย เพียงแค่รัฐจ้างงาน อาทิ จะมีคนไทยในต่างประเทศเดินทางกลับเข้ามาตามกำหนดการ รัฐก็จ้างรถบัสท่องเที่ยวไปรับ, จ้างผู้แปลภาษาในการสื่อสาร, จ้างครัวโรงแรมทำอาหาร เป็นต้น เหล่านี้จะเกิดการขับเคลื่อนของซัพพลายเชน วิธีการนี้ยังไม่ต้องจ่ายทันทีแต่จะเป็นการเปิดคำสั่งซื้อสั่งจ้าง (Job Order) เอาไว้ก่อนแล้วจ่ายทีหลัง สิ่งที่จะได้คือจะได้หนังสือจ้าง ใบสั่งงาน เพื่อไปแสดงต่อสถาบันการเงินในการพิจารณาวงเงินต่างๆ ช่วยการเข้าไม่ถึงแหล่งเงินให้เข้าถึงง่ายขึ้น
“เวลานี้ไม่ใช่เรื่องการประหยัดเงินของรัฐแล้ว แต่เป็นการช่วยกระจายให้ประชาชนและกลไกต่างๆ ทางเศรษฐกิจให้เริ่มเคลื่อนตัวได้”
ที่มา
---------------------------------------------