ปาฐกฐาพิเศษเรื่อง "ความพร้อมประเทศไทยกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์"
5 สิงหาคม 2565 ในการปาฐกฐาพิเศษเรื่อง "ความพร้อมประเทศไทยกับการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์" ซึ่งจัดขึ้นภายใต้งานการประชุม Thailand Research Expo 2022 ห้องย่อยด้านการท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซนทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ จัดโดย บพข. สกสว. กระทรวงอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้กล่าวถึงความเป็นไปของตลาดผู้บริโภคที่ให้ความใส่ใจเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสรุปว่า
สิ่งแรกที่ผู้ประกอบการและชุมชนท่องเที่ยวต้องระมัดระวัง ในการตอบสนองตลาดที่อ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ก็คือ การเร่งเรียนรู้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ของตัว และทำความเข้าใจถึงผลกระทบทั้งในทางบวกและลบที่กิจกรรมต่างๆในพื้นที่บริหารของตนมีต่อสิ่งแวดล้อม จากนั้นออกแบบการปรับปรุงกิจกรรมของตนและของsupply chain
ประการที่สองคือต้องระวังอย่าให้พลาดในการทำเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อาจตั้งใจดีแต่มีความรู้ไม่รอบ จนถูกมองว่าเป็นเพียง"การฟอกเขียว หรือ Green wash" แต่เบื้องหลังยังคงไม่คำนึงถึงระบบนิเวศน์ทั้งที่มีทางเลือกอื่นได้
ประการที่สาม คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติตามกฏหมายควรประกาศนโยบายและแผนเรื่องนี้ในระดับชาติแล้วส่งสัญญาณไปให้ถึงคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยวในคลัสเตอร์ต่างๆทั่วประเทศ ในการพัฒนาแผนและติดตามผลความคืบหน้า รวมถึงการทำข้อเสนอด้านการเงินการคลังด้านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบไปสู่คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานต่างๆเพื่อทำให้มีระบบสนับสนุนในการทำให้การท่องเที่ยวไทย’’เป็นเครื่องมือ’’ในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและปัญหาโลกร้อน ได้มีพลังยิ่งขึ้น
ประการที่สี่ เป็นเรื่องดีที่การท่องเที่ยวในยุคหลังๆเริ่มให้น้ำหนักกับกิจกรรมที่ทำ มากกว่าจะสนใจแต่ว่าได้ไปสถานที่ใด การเดินทางท่องเที่ยวใกล้ๆบ้านแต่ก็อาจจะให้ความพึงพอใจสูงกว่าเมื่อได้ทำกิจกรรมที่มีคุณค่าและสื่อความหมายที่ดีทั้งต่อตนเอง สังคมและโดยเฉพาะ ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์
ประการที่ห้า ความรู้ที่ไทยเคยศึกษาสังเกตและวิจัยเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ยังสามารถลงทุนเพิ่มเติมได้อีกมาก ทั้งระบบนิเวศน์บนบกและในทะเล ความรู้ที่จำเป็นเหล่านี้มีแต่จะเป็นทั้งปัญญาและประโยชน์ในการสร้างศักดิ์ศรีและสร้างความน่าเชื่อถือในการวางposition ของการท่องเที่ยวไทยในการท่องเที่ยวโลก
ประการสุดท้าย ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพเป็นทุนที่มีคุณค่ามาก ขอเพียงเราเอาใจใส่กับระบบนิเวศน์อันซับซ้อนของเรา เราจะพบพืช แมลง สัตว์ และความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ต่อสภาพอากาศ สภาพภูมิประเทศ แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาเล่าแลกเปลี่ยนให้สังคมได้รู้ เราก็จะได้การท่องเที่ยวและความรับผิดชอบที่ผู้คนต่างๆทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ภายในและนอกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเข้ามาสัมผัส เพื่อช่วยคุ้มครอง และช่วยรักษากลไกทางธรรมชาติอย่างมีความมุ่งหมายที่ยั่งยืนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี หากจะมีสูตรการคำนวณค่าคาร์บอนฟุตปริ้นท์ที่มีมาตรฐานที่พอรับกันได้อย่างคร่าวๆ ในไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญและทำให้สนุกสนานได้ จะช่วยให้การเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มคณะ ของครอบครัว และของบุคคลมีเครื่อมือวัดผลหรือวางแผนในการปรับปรุงวิธีเดินทางและทำกิจกรรมท่องเที่ยวได้อย่างน่าสนใจ
‘’…สตรีทฟู้ดของไทยเป็นมากกว่าสีสรรของการท่องเที่ยว เเต่สตรีทฟู้ดคือที่พึ่งสำคัญของประชากรผู้บริโภคในยุคที่ความมั่นคงทางอาหารของโลกกำลังมีความเสี่ยง และสตรีทฟู้ดเป็นหนทางเลี้ยงชีพของคนขายส่วนใหญ่ สิ่งที่เราต้องช่วยพัฒนาคือการสนับสนุนการจัดการสุขอนามัยของสตรีทฟู้ดทั้งสิ่งที่จะอยู่บนจานและที่จะทิ้งเป็นขยะอินทรีย์ เช่นเดียวกัน ที่เราสามารถเพิ่มกิจกรรมการปล่อยผีเสื้อหรือผึ้งชันโรงในช่วงใดช่วงหนึ่งของโปรแกรมท่องเที่ยวที่ไปอยู่ในเขตชายป่าหรือบริเวณที่ยังไม่มีการใช้เคมีการเกษตรที่เข้มข้นนัก แล้วใช้โอกาสอย่างนั้นให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวให้ทราบถึงผลดีของการกระทำดังกล่าวว่าดีต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมอย่างไร…’’ นายวีระศักดิ์กล่าว
----------------------------------------
ที่มา www.weerasak.org / https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat
----------------------------------------