ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

ปักหมุดพิชิต“เขาหลวง”จ.สุโขทัย ส่องแสงอาทิตย์เคล้าสายหมอก อุ้ม’ขยะ’รักษ์ธรรมชาติแบบยั่งยืน

เมื่อพูดถึงการเดินทางมายัง “สุโขทัย” หรือเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งมรดกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ภาพที่ฉายขึ้นมาคือความงดงามของโบราณสถาน สัมผัสประวัติศาสตร์กับอุทยานแห่งชาติ พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตทำเครื่องสังคโลก

แต่ใครจะรู้ว่า “จังหวัดสุโขทัย” ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกใจสายธรรมชาติ รักการผจญภัยอย่างการพิชิตยอดเขา…“เขาหลวง” อุทยานแห่งชาติรามคำแหง “เขาหลวง” ในอุทยานแห่งชาติรามคำแหง มีเนื้อที่ครอบคลุม 3 อำเภอ อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอคีรีมาศ และอำเภอเมือง มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตร

ที่ถึงแม้ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูเท่าภูกระดึง แต่ความโหดที่ร่ำลือกันว่าควรมาลองสักครั้ง “เหมือนเด็ดพริกทั้งสวนหน้าบ้าน” กับระยะทางร่วม 4 กิโลเมตร เพื่อพิชิตยอดเขาทั้งสี่ ยอดเขาพระเจดีย์ ยอดเขาพระแม่ย่า ยอดเขาภูกา และยอดเขานารายณ์ ก็ทำให้เราร่วมทริปเดินทางในครั้งนี้

ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพิชิตเขาหลวงกว่าปีละ 20,000-30,000 คน แต่ทว่าสิ่งที่ตามมาคือการทิ้งขยะเอาไว้บนยอดเขา ทั้งขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม อาหารกระป๋อง และถุงพลาสติก จนทำให้มีขยะสะสมอยู่บนยอดเขามากกว่า 2,000 กิโลกรัม นานเกือบ 30 ปี

องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. จึงได้จัดกิจกรรมเดินเท้าขึ้นเขาหลวงเก็บขยะเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมรณรงค์ปลูกจิตสำนึกนักท่องเที่ยวไม่ให้ทิ้งขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

แต่ก่อนที่จะเริ่มออกเดินทาง ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวถึงภาพรวมการผลักดันชุมชนให้มีศักยภาพให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวว่า

สิ่งที่อพท. ทำร่วมกับชุมชนนั้นคือ การให้ความสำคัญกับของดี เด่น ดัง ที่อยู่ในพื้นที่ก่อน หลังจากนั้นเราจะสร้างกลไกในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยกลไกสำคัญคือการมีชุมชนตั้งเป็นชมรมที่รู้จักแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบ จากนั้นอพท.จะเอากระบวนการเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพของชุมชนว่ายังต้องการอะไรบ้าง จากนั้นก็จะให้งบประมาณส่วนหนึ่งพร้อมผลักดันไปสู่ภาคการปฏิบัติ
สำหรับพื้นที่พิเศษจังหวัดสุโขทัยนั้น อพท.ผลักดันด้วยกัน 3 ส่วน คืออุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โดยในปีนี้ได้ขยายไปยังชุมชนรอบข้างอีกกว่า 20 ชุมชน ผลักดันให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

“เป้าหมายคือการเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนในพื้นที่ท่องเที่ยว ให้เขาได้มีวิธีการและเครื่องมือในการพัฒนาชุมชน เราไม่ได้เอาเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหัวใจหลักในการทำงาน แต่เราเอาการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็ง และสร้างศักยภาพของตัวเอง”

พร้อมแล้วกับความตื่นเต้นครั้งนี้ มุ่งหน้าสู่ยอดเขาหลวง…เส้นทางที่สู่ยอดเขาหลวงแห่งนี้ไม่ได้เจอทางเรียบเหมือนที่เคยอ่านตามรีวิว เพราะตลอดเส้นทางนั้นมีแต่ความชันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตั้งทำมุม 45 องศาบ้าง 60 องศา แต่ก็ไม่มีใครหวั่น ออกแรงแข็งขันกันเต็มที่

ระหว่างที่ค่อยก้าวเดินนั้นก็จะเจอบรรดาลูกหาบที่แบกสัมภาระราวๆ 30-40 กิโลฯ เดินผ่านหน้าเราไปอย่างรวดเร็ว

ด้วยความอยากรู้ว่าลูกหาบมีวิธีเดินอย่างไรให้ไม่เหนื่อย ไม่เมื่อยบ้าง แถมยังต้องแบบของหนักอีก เลยลองเอ่ยปากถามออกไปว่ามีเคล็ดลับอะไรที่ให้เดินได้เร็วขนาดนี้ ไม่เหนื่อยบ้างหรือ?

คำตอบที้ได้กลับมาเรียกร้อยยิ้มได้เบาๆ “ไม่มีเคล็ดลับหรอก เหนื่อยตรงไหนก็พักตรงนั้นแหละ”
เดินต่อกันแบบยาวๆ ชมธรรมชาติ ต้นไม้ ใบหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามสองข้างทางจนมาถึงจุดพักชมวิว นั่งสูดอากาศ พักคลายร้อน หยิบเสบียงที่เตรียมมาออกมาเติมพลัง…หายเหนื่อยด้วยวิวด้านหน้าที่สุดลูกหูลูกตา มองไปเห็นทิวทัศน์เมืองสุขโขทัยอยู่ริบๆ

ทำความเร็วไม่กี่ชั่วโมงก็เดินขึ้นถึงยอดเขาจุดกางเต้นท์เสียที ภาพตรงทำให้หายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง ก่อนจะแวะเดินชักภาพกับป้ายแลนด์มาร์ก…เสียดายที่วันนี้หมอกหนาเกินไปเลยไม่ได้เห็นอาทิตย์อัสดงที่ผาแม่ย่า

แต่ก็ไม่ผิดหวังเมื่อตื่นมาดูแสงแรกยามเช้าที่ผานารายณ์ แสงอาทิตย์ค่อยๆ เคลื่อนพร้อมกับเมฆหมอก…มาถึงกิจกรรมที่เราตั้งใจมาทำในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่พาเดินลัดเลาะไปดูสิ่งหนึ่งที่เห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกตกใจ “กองขยะภูเขา”ขนาดใหญ่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่มีน้อยเมื่อนักท่องเที่ยวที่มาเสพย์ความงามของธรรมชาติ พร้อมกับทำลายธรรมชาติในเวลาเดียวกัน
“แต่ก่อนการท่องเที่ยวเป็นแค่การมองว่า ทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวแล้วเกิดรายได้ ปัจจุบันการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมันจะต้องมีความหมายมากกว่านั้น ยั่งยืนคือการที่ต้องทำให้เจ้าของบ้านมีเกียรติที่คนมาเยี่ยมบ้านเขา มีเกียรติคือการเคารพต่อความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทางธรรมชาติที่มี” คำกล่าวของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) กล่าวพร้อมเปิดเผยถึงกิจกรรมสร้างจิตสำนึกเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนครั้งนี้ว่า
“เมื่อเรามาที่นี่ ที่เขาหลวง และด้วยความที่มันขึ้นยาก เลยเตรียมของมาเยอะเพราะกลัวว่าจะไม่มีของใช้ เมื่อใช้เสร็จแล้วของเหล่านั้นหมดประโยชน์กับตัวเองแล้วก็ทิ้ง มีตั้งแต่ทิ้งไม่อยู่ในถังด้วยซ้ำไป แม้ว่าจะทิ้งในถังแต่ด้วยความยากลำบากของการเอาลงเอาขึ้น มันก็คาอยู่บนนี้ระยะเวลาถึง 30 ปี

คณะที่เรามาก็จะมาเอาขยะพวกนี้ลงไปทิ้ง ส่วนที่เหลือเราก็จะจ้างชาวบ้านที่นี่ช่วยเอาลง เพื่อที่จะให้บอกใครต่อใครได้ว่าบนยอดเขาหลวงระยะเวลา 30 ปี บัดนี้ไม่มีขยะแล้ว และหลังจากนี้ทางอุทยานฯรามคำแหงจะริเริ่มโครงการคัดแยก และคัดกรองไม่ให้ขยะขึ้นมาอยู่บนนี้ด้วยการวางมัดจำ จ่ายค่าน้ำหนักไว้

ในอนาคตผมคิดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าลงไปแล้ว เพิ่มน้ำหนักของสิ่งที่เอาลงไป อย่างนั้นเราก็จะหาวิธีหารางวัลให้ หลังจากนี้แล้วถ้าที่ท่องเที่ยวสะอาดก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ไปที่ยวก็จะเอาของไปให้น้อยที่สุด และเอาของเก็บกลับให้หมด ถ้าได้วัฒนธรรมแบบนี้ เราจะเห็นได้ว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร” วีระศักดิ์ ระบุ
ปิดท้ายทริปนี้ด้วยการช่วยกันคนละไม้คนละมือแบกขยะเท่าที่สามารถจะทำได้กลับลงมาข้างอีกครั้ง

….ทิ้งไว้แค่เพียงรอยเท้า เอากลับไปด้วยร้อยยิ้ม สร้างจิตสำนึกเที่ยวแบบคนรุ่นใหม่ เที่ยวแบบยั่งยืน
ที่มา https://www.prachachat.net/spinoff/news-69429