ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

คอลัมน์มองอย่าง วีระศักดิ์ : "ประมวลกฎหมาย เกี่ยวกับป่าไม้" 

S 18342054

(โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560)

ปัจจุบันปริมาณคดีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินและป่าไม้ มีปริมาณเยอะมาก ๆ ส่วนมากมักมาจากขอบเขตที่ป่ากับที่ชาวบ้านซ้อนทับกัน สาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหามาจากข้อความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 4 (1) กำหนดว่า "ป่า" หมายความว่า ที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดิน..." ซึ่งเหมารวมอะไรต่ออะไรเข้าไปเป็น "ป่า" โดยแม้แต่รัฐยังไม่รู้จักอีกมากมาย เช่น ที่ดินที่ชาวบ้านครองมานานนมหลาย ๆ ชั่วอายุคน ก่อน พ.ร.บ. ป่าไม้ 2484 ด้วยซ้ำ

แต่ชาวบ้านเหล่านั้นไม่เคยแจ้งจดการครอบครอง ไม่เคยแจ้งจดการทำประโยชน์กับทางการมาก่อน หรืออาจเคยบอกแต่กำนันผู้ใหญ่บ้านอาจไม่ได้ส่งต่อเข้าสู่ส่วนกลาง ที่ดินกลุ่มแบบนี้จะมีสักเท่าไร...คงยังตอบไม่ได้ ...เพราะเมื่อชาวบ้านไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์... ทางการก็ต้องถือว่าที่เหล่านี้เป็นป่าวันยังค่ำ... กรณีพิพาทแบบนี้จึงอยู่ยั้งยืนยงมานานหลายรุ่นแล้ว แม้แต่ที่ตั้งของหน่วยงานของรัฐจำนวนหนึ่ง ก็ตั้งอยู่บนที่ดิน "ป่า" ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจแบบ "ตั้งใจ" ก็อาจมีเหตุมาจากทางการต้องการขยายบริการให้ราษฎรเร็วๆ เพื่อช่วงชิง "ใจ" ของ ราษฎรมิให้ตกไปอยู่กับฝ่ายคอมมิวนิสต์สมัยก่อน จึงตั้งที่ทำการของทางการหลายอย่างในที่ที่จะตอบสนองประชาชนในแถบนั้นได้สะดวก โดยไม่ต้องคำนึงว่าที่ดินนั้นจะเป็นที่ "ป่า" หรือไม่ และจะเพิกถอนสภาพความเป็น "ที่ป่า" นั้นกันอย่างไร

แน่นอน...ว่าย่อมมีชาวบ้านปลอม ๆ เกิดขึ้นอยู่พอควรทีเดียวที่อ้างว่าเป็นผู้ครอบครองมานานก่อน กม.ป่าไม้จะออกมา หรือครอบครองมาก่อนการ ขีดเส้นในแผนที่ของทางการ ข้อนี้ งานวิจัยของ อาจารย์อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ และคณะ เคยชี้ว่า 

"(1) ในแง่เศรษฐกิจ ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ ในที่ดินที่ไม่ได้แจ้งการครอบครองไว้ จะไม่สามารถออกเอกสารสิทธิในที่ดินได้ (เพราะ) ถือว่าอยู่ในที่ดินของรัฐ (ซึ่งก็) จะทำให้ไม่มีความมั่นคงในการครอบครองที่ดิน ไม่มีหลักประกันสินเชื่อในการประกอบอาชีพ (แม้แต่) ไม้หวงห้ามที่ขึ้นอยู่แล้วในที่ดิน (ก็) ตัดฟันไม่ได้ ต้อง (ไป) ขออนุญาตก่อน (คำในวงเล็บนี่ ผมเพิ่มให้เอง เพื่อผู้อ่านจะได้เข้าใจได้สะดวกขึ้นนะครับ)

(2) ในแง่สังคม เกิดกรณีขัดแย้งจากการอ้างสิทธิในที่ดินระหว่างรัฐกับประชาชนที่หาข้อยุติได้ยากทำให้เป็นผลเสียทั้งแก่ประชาชนในการดำรงชีพ และ (เป็นผลเสียแก่) ภาครัฐในการใช้ทรัพยากรแก้ไขปัญหาไม่รู้จบ โทษที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ลงโทษ ได้แต่ผู้กระทำความผิดรายเล็ก (อันนี้ไม่ต้องมีคำเพิ่มจากผมเลยครับ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ว่าไว้ตามนั้นเป๊ะ)

(3) ในแง่วัฒนธรรม ผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินดั้งเดิมที่ไม่มีสิทธิในที่ดินอาจถูกจับกุม หรือขับไล่ออกจากที่ทำกิน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือผู้มีอิทธิพล เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน" เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในสายตารัฐ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสายตาระบบราชการ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ในสายตาของชนชั้นกลางทั้งหลาย เพราะส่วนมากคนมีตังค์เข้าถึงที่ดินมีโฉนดกันแล้ว จะได้ชิ้นใหญ่หรือชิ้นเล็ก ก็ตามแต่กำลังทรัพย์ กำลังผ่อนแต่ชาวบ้านชายป่านี่เรื่องใหญ่ ครับ...เสียงเรียกร้องของพวกเขาจึงได้เปลี่ยนจากเสียงวิงวอน...เป็นเสียงประท้วงตะโกน...และในที่สุดก็นำไปสู่การเดินขบวน

คนชั้นกลางจึงพึงนึกถึงข้อมูล ข้อกฎหมายในย่อหน้าต้น ๆ ของผมไว้สักหน่อย...ทุกครั้งที่เห็นภาพสมัชชา เห็นภาพกลุ่มชาวบ้าน รวมตัวเรียกร้อง เพราะนี่คือข่าวที่มักออกอากาศเพื่อมุมมองของคนเมือง ซึ่งมักจะบอกความเป็นมาของการประท้วงน้อยกว่ารายละเอียดข่าวดาราเตียงหัก นี่คือข่าวที่ผู้ชมจะกดรีโมตเปลี่ยนช่องหนีด้วยความไม่ทันคิดไม่ทันใส่ใจมากที่สุดประเภทหนึ่ง ยุคปฏิรูปเริ่มมาระยะหนึ่งแล้ว การปฏิรูปที่ดินเมืองไทย ด้วยการสังคายนากฎหมายป่าไม้ ประมวล กม.ที่ดินและสัตว์ป่า โดยรื้อทำใหม่ จาก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ร.บ.ป่าสงวน พ.ร.บ.อุทยาน พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และ พ.ร.บ.สวนป่า ให้เป็นประมวลเล่มเดียวกัน โดยอ้างอิงโยงถึงกันและสังคายนา ประมวล กม. ที่ดินไปด้วย ดูจะเป็นไปได้...อย่างน้อยก็คงไม่มีเสียงค่อนแคะว่ามีพรรคการเมืองอะไรมาบีบหรือไม่ เพราะเวลานี้พรรคการเมืองกำลังโดนบีบต่างหากการเร่งแก้ไขปัญหากฎหมายป่าไม้และที่ดินทั้งระบบในช่วงเวลานี้ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าเริ่มทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะที่ดินและป่าไม้เป็นปัญหาการเมืองที่แยกกันไม่ออกครับ ถ้าเริ่มเร็ว

...ก็จะลดปัญหาการเมืองที่เป็นฐานรากได้เร็วขึ้น

...เท่านั้นเอง

---------------------------------------------

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์

สมาชิกวุฒิสภา, ประธานอนุกรรมาธิการการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ของวุฒิสภา, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการกีฬา ของวุฒิสภา, รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของวุฒิสภา และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 

ที่มา https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat

---------------------------------------------