Rhythm of life วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 1/3 ก่อนเป็นรัฐมนตรี
“ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง” พุทธศาสนสุภาษิตดังกล่าวเป็นเครื่องเตือนตนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะและความรับผิดชอบยิ่งใหญ่คับฟ้าหรือรู้สึกเองว่าด้อยค่าเป็นแค่คนธรรมดาเดินดิน เช่นเดียวกับการเตือนตนของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ คนหนุ่มผู้มีประสบการณ์อยู่เบื้องหลังม่านการเมืองมายาวนานกว่าสองทศวรรษ การไปๆ มาๆ ของเขาเสมือนจังหวะของกราฟชีวิตมีขึ้นก็ย่อมมีลง ล่าสุดแม้ในช่วงเวลาที่พ้นจากหน้าที่ “เสนาบดีในยุคประชาธิปไตย” แต่ความรู้บวกความสามารถยังคงไม่ปลดปล่อยให้เขากลับไปเดินบนเส้นทางวิชาการ
การกลับมาโลดแล่นในการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยด้วยตำแหน่งประธานกรรมการ ก่อให้เกิดคำถามมากมายไม่น้อยไปกว่าภาระงานซึ่งเป็นอีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักเพื่อนำพานักท่องเที่ยวให้กลับคืนความมั่นใจต่อประเทศไทย โดยคำถามจากผู้ไม่รู้กำลังจะได้รับคำอธิบายไขข้อข้องใจให้กับสังคม พร้อมๆ กับการเดินหน้าทำงานสามประสานกับทั้งรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคนปัจจุบัน ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวมถึงภาคเอกชนและภาคสังคมผู้ขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวตัวจริง
ไฮคลาส : เรียกได้ว่าที่มาที่ไปของคุณจะเป็นคนเบื้องหลังที่อยู่หลังม่านการเมืองมายาวนาน
20 ปีแล้วที่ผมทำงานนี้เริ่มจากเป็นผู้ช่วยของอาจารย์สุรเกียรติ (เสถียรไทย) ตอนนั้นพลเอกชาติชาย (ชุณหะวัณ) เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเริ่มเข้ามาอยู่บ้านพิษณุโลกตั้งแต่ผมยังเป็นนิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ผมไม่ได้มีเจตนาจะเป็นนักการเมือง ไม่มีเจตนาจะทำอะไรเกี่ยวกับการเมืองมากมาย ความตั้งใจในตอนเด็กอยากเป็นนักกฎหมาย และอยากเป็นอัยการ เพราะรู้สึกว่าเป็นอัยการแล้วไม่ต้องกลัวตำรวจแต่ไม่ต้องใช้ชีวิตแบบเดียวกับผู้พิพากษาคืออยู่ในกรอบจนเกินไป และเป็นตามประสาเด็กบ้านนอกจากอุบลฯ ยิ่งมีความรู้สึกว่าข้าราชการกับตำรวจเป็นสิ่งที่เราอยากจะมีความรู้เอาไว้โดยที่ไม่ต้องกับวลใจ
ฉะนั้นตอนเรียนจะจบก็มุ่งหน้าเป็นอัยการแท้ๆ แต่เมื่อตอนจบจริงๆ จึงได้รู้ว่าประเทศไทยนั้นสิ่งที่ขาดคือ International Trade Negotiator คนที่จะไปอยู่ที่ แกตต์ (GATT : General Agreement on Tariffs and Trade) ก่อนจะมาเป็น WTO (World Trade Organization / องค์การการค้าโลก) ตอนนั้นยังไม่มีบุคลากรเลย ก็จึงถูกเคี่ยวเข็ญให้เรียนทางด้านนี้
ภารกิจที่บ้านพิษณุโลกจากที่ไปช่วยงานของดร.สุรเกียรติ ทำไปทำมาคนอื่นก็เลยเห็นว่าเด็กตัวเล็กๆ นิสิตมาช่วยงานก็ใช้งาน แปลเอกสารบ้าง ร่างแฟ็กซ์บ้าง ไปรับแขกหน้าบ้านฯ เอนเตอร์เทนทูตานุทูต ฯลฯ เผอิญว่าสีสันการเมืองระหว่างประเทศสมัยพลเอกชาติชายมันฉูดฉาดดีเราก็มีโอกาสได้สัมผัส ก็จากจุดนั้นแหละครับที่พอผู้ใหญ่รู้จักและก็เรียกใช้มาเรื่อยๆ
พอเราทำไปจึงได้รู้ว่าคนที่เขาคิดดีปรารถนาดีต่อบ้านเมืองมีเยอะ แต่เขาอยากทำนโยบายที่มันดีนั้นจำเป็นต้องมีข้อมูล แต่เขาไม่มีเวลาทำเรื่องข้อมูล เราคือคนที่ถูกสร้างมาเพื่อจะไม่ต้องกลัวกับข้อมูล เป็นคนไขว่คว้า ค้นหา วิเคราะห์ เอามาย่อย และเอามานำเสนอใหม่ให้เข้าใจง่าย ทำเรื่องยากให้เข้าใจง่าย และเราก็พบว่านั่นได้ประโยชน์มากในการทำให้ผู้ทำเรื่องนโยบายสาธารณะไม่ว่าเขาจะเป็นนักการเมืองเป็นใครก็ตามแต่...เขาไม่ถูกแรงกดดัน มันไม่ใช่ไอเดียของเรา มันเป็นข้อมูลที่เราไปหามาเฉยๆ และก็ผูกขึ้นมา พร้อมกับบอกว่าภายใต้ข้อจำกัดที่ท่านกำลังจะมี นี่คือ Best Case Scenario นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุดอันดับหนึ่ง “ถ้าเราได้อันนี้เจ๋งที่สุดเลยนะท่าน” แต่ถ้าทำอันนี้ไม่ได้ขอเสนอให้ทำอันที่สอง อย่างที่สองทำอย่างนี้ ต่างกันนิดหน่อย ผลมันคืออย่างนี้แต่มันมีข้อเสียอยู่ตรงนี้ต้องไปแก้ตรงนี้ หรือทางเลือกที่สามเป็นอย่างนี้ ทางเลือกที่สี่เป็นอย่างนี้ เช่นนี้ผู้ใหญ่เขาจะไม่เกิดแรงกดดันเพราะรู้สึกว่าการรับฟังข้อมูลของเธอไม่นำมาสู่การบีบบังคับให้ฉันต้องทำอะไร ฟังให้รู้ รู้แล้วถ้าบอกว่ามีเวลาฟัง ถ้ามีเวลาให้พูดให้ฟังแค่ 20 นาที เราก็จะใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที พูดให้จบเพื่อให้มีเวลาที่เขาได้ซักถาม ถ้าเขาบอกว่ามีเวลา 5 นาที เราก็จะพูด 5 นาที ถ้าเขาบอกว่าไม่มีเวลาให้เราพูดเลยเขียนมาก็แล้วกันก็จะเขียนไปให้
ไฮคลาส : เหมือนเป็นกุนซืออยู่เบื้องหลัง
ก็ไม่เคยถูกตั้งเป็นกุนซือสักทีนะ เพียงแต่ว่าถูกเข้าใจว่าอย่างนั้น (ยิ้ม) ผมถือว่าการทำงานวิชาการแค่ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจรับฟังเราก็พอแล้ว ขอแค่ได้รับฟังไม่ต้องเชื่อฟัง เมื่อรับฟังเสร็จแล้วเขาอยู่ในฐานะหน้าที่ที่แบกความรับผิดชอบมากกว่าเราเยอะ เขาเป็นผู้ตัดสินใจ เสียงวิพาษ์วิจารณ์ไปที่เขาไม่ใช่เรา เพียงแต่ว่าเราเชียร์ให้เขาตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุดเสมอ แต่ถ้าทำงานกับใครได้นานๆ เข้าเราก็จะเข้าใจแต่ละคนมีข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกัน
การที่เราหยิบข้อจำกัดของเขามาผสมอยู่ในข้อเสนอว่า ข้อเสนอที่ผมเชื่อว่าน่าจะเหมาะกับท่านที่สุดน่าจะเป็นอย่างนี้ แต่ถ้าข้อเสนอที่มันดีที่สุดของบ้านเมืองเป็นอย่างนี้มันอาจจะต่างกันนิดหน่อยแต่ว่าก็เข้าใจได้ว่าอันที่ดีที่สุดเขาอาจจะต้องแบก ต้องไปรบกับใครต่อใครมากเกินไป ก็จะมี First Choice, Second Choice ไปเรื่อยๆ
ไฮคลาส : ซึ่งเมื่ออยู่เบื้องหลังไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าได้มีโอกาสทำงานวิชาการในฐานะอาจารย์น้อยกว่าการนำวิชาการมาเป็นข้อเสนอ เป็นนโยบายให้กับรัฐบาล กับรัฐมนตรี กระทั่งคุณได้รับการผลักดันให้ก้าวสู่ตำแหน่งที่คุณเคยอยู่เบื้องหลัง ใครเป็นผู้บอกกับคุณว่า “ครั้งนี้คุณจะต้องเป็นรัฐมนตรี”
หัวหน้า ท่านบรรหาร บอก “จะให้เป็นรัฐมนตรีนะ ถึงคิวคุณแล้ว...” ว่างั้นเถอะ ผมบอกว่าไม่เป็นก็ได้นะ ท่านบอก “ไม่ได้ ระบบมันมี คุณต้องเป็น ไม่อย่างนั้นอีกหน่อยคนทำงานให้กับพรรคเขาจะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะโต” ก็ต้องมีตัวอย่าง ท่านก็มีระบบสัดส่วนว่าสำหรับนักการเมืองที่ไปลงเลือกตั้ง คนที่มาช่วยงานพรรค และประเภทต่างๆ เขามีสัดส่วน คุณคือสัดส่วนนี้ คุณไปเป็นซะแล้วไปทำให้ดี ก็ไป แต่ไม่รู้ว่าไปเป็นอะไร รู้แค่ว่าเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอะไรก็ไม่รู้ จนกระทั่งเหลืออีกสักประมาณ 3-4 วันท่านถึงได้บอกว่า “เป็นรัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ นะ” ก็ต้องรีบทำการบ้าน ไปขนเอารายงานกรรมาธิการ รายงานผลการดำเนินงานขององค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับท่องเที่ยว และกระทรวง รวมถึงด้านกีฬา มาอ่านให้หมด โทรศัพท์ถามผู้รู้ อ่านแหลกลาญจากคนไม่เคยใส่แว่นเลยตลอดชีวิตกลายเป็นคนที่ต้องการใส่แว่นในพริบตาเดียวเลย
อ่านทั้งหมด
Rhythm of life วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 1/3 ก่อนเป็นรัฐมนตรี
Rhythm of life วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 2/3 ช่วงเวลาในตำแหน่งรัฐมนตรี
Rhythm of life วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ 3/3 ช่วง 5 ปีที่ถูกตัดสิทธิ์
ที่มา
- https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat
---------------------------------------------