เปิด’’การประชุมช้างแห่งชาติ’’ สื่อสารแนวคิดการดูแลสัตว์สำคัญคู่เมืองในรูปแบบ Partnership
24 สิงหาคม 2566 วีระศักดิ์ เปิด’’การประชุมช้างแห่งชาติ’’ สื่อสารแนวคิดการดูแลสัตว์สำคัญคู่เมืองในรูปแบบ Partnership (หุ้นส่วนของกันและกัน)
24 สิงหาคม 2566 ที่ อาคารกัลยาณิวัฒนาการุณย์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นประธานกล่าวเปิดงานการประชุมช้างแห่งชาติ ประจำปี 2566 และแสดงปาฐกถา โดยมีนายถนอมศักดิ์ เฉียบแหลม รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวรายงานว่า ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อช้างไทย ได้แผ่ไพศาลไปทั่วโลก
ดังนั้น องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล WWF (World Wide Fund for Nature) ได้ประกาศให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี (ตั้งแต่ 2555 เป็นต้นมา) ให้เป็น “วันช้างโลก” เพื่อให้ชาวโลกมีจิตสำนึก ร่วมกัน อนุรักษ์ช้าง
สถาบันคชบาลแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกันจัดงาน การประชุมช้างแห่งชาติทุกๆปีเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระเมตตาต่อช้างไทยเสมอมา
ทั้งนี้เวทีนี้ยังเป็นพื้นที่เผยแพร่แลกเปลี่ยนความคิด ผลงานวิจัยเรื่องช้างในหลากหลายมิติ ขยายความรู้และประสบการณ์สู่การพัฒนา การดูแลช้างในแนวใหม่อย่างมีมาตรฐาน ทั้งมาตรฐานปางช้าง มาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพของควาญช้าง รวมทั้งขยายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการคุ้มครองช้างอย่างยั่งยืง แผนแม่บทและกฎหมายช้างไทย, เวชศาสตร์ฟื้นฟูในช้าง, การฝังเข็มและการใช้เลเซอร์บำบัดในช้าง, การให้เลือดและพลาสม่าในช้าง, การวางยาสลบในช้าง, การออกแบบเครื่องมือเพื่อใช้กับช้าง, ความร่วมมือในการอนุรักษ์ช้างไทย, การอนุรักษ์ช้างไร้พรมแดน และการเคลื่อนย้ายช้างป่า เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานระดับสนามได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ในปาฐกถาเรื่องช้างไทยในกระแสโลก นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ‘’ไทยได้กลายเป็นศูนย์กลางความรู้เรื่องช้างเลี้ยงของโลกมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทั้งทางด้านการดูแลสุขภาพ การแพทย์สมัยใหม่ในช้าง ยาแผนโบราณในช้าง ความรู้เรื่องพืชอาหารช้าง การดูแลช้างในภาวะต่างๆตั้งแต่เเรกคลอดจนถึงวัยชรา สิ่งเหล่านี้เมื่อรวมกันมีค่าเป็นความรู้และทักษะที่นานาชาติสามารถมาพึ่งพาได้ อย่างไรก็ดี ทัศนคติที่ถูกต้องก็มีบทบาทสำคัญยิ่งในกระแสโลก
หากไทยยกระดับและรักษามาตรฐานทั้งด้านความรู้ ทักษะและทัศนคติได้ต่อเนื่อง ยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างควาญผู้เลี้ยง เจ้าของ และตัวช้างให้เป็นเสมือนหุ้นส่วนในการพัฒนา เราก็อาจได้อีก soft power ที่ทรงพลังอย่างลึกซึ้ง ‘’
“…ไม่เฉพาะคนไทยที่ปลื้มใจที่ พลายศักดิ์สุรินทร์ได้บินกลับบ้านเกิด แต่ชาวโลกก็พลอยปลื้มใจไปด้วย ว่าสังคมไทยมีความรู้ความเมตตาและจิตใจที่อ่อนละมุน ในการดูแลสัตว์สำคัญของโลก…’’ นายวีระศักดิ์กล่าว