ตัวแทนคณะกรรมาธิการพรบ.ปรับเป็นพินัยฯ แถลงขอบคุณทุกฝ่ายจนกฏหมายผ่านวาระสามสำเร็จ
วันที่ 3 สิงหาคม 2565 เมื่อเวลา 09.30น. ที่ อาคารรัฐสภา นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ…. พร้อม นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ และสส.มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช ในฐานะ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของรัฐสภา เรื่องกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย ซึ่งเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูป ที่ผ่านความเห็นชอบวาระ3 จากการประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อเย็นวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา
โดยนายวีระศักดิ์ ชี้ว่า …’’นับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญอีกครั้งของวงการปฏิรูปกฏหมาย และนับเป็นความก้าวหน้าของการทำงานนิติบัญญัติของไทย ที่สามารถ ‘’ออกกฏหมายกลาง’’ เพื่อ’’ลดรูป’’โทษปรับทางอาญาในกฎหมายไทยที่มีเป็นจำนวนมากนับร้อยๆฉบับให้ลงมาเหลือเป็นการชำระค่าปรับเป็นพินัยได้แทน
สำหรับโทษปรับสถานเดียวนั้น ปกติจะเป็นกรณีความผิดเพียงเล็กน้อย ที่ไม่ถึงขั้นที่ทางอาชญาวิทยาเห็นว่าต้องจำคุก แต่โทษปรับนั้นก็ได้ทำให้เกิดปัญหา ที่ผู้เขียนกฏหมายในอดีตมิได้เจตนาจะให้เกิด ได้แก่
(1)เกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเมืองทันทีที่คนยากจนต้องโทษปรับ ซึ่งเมื่อใดไม่มีเงินชำระค่าปรับ กฏหมายให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ ส่วนคนรวยเมื่อชำระค่าปรับแล้วก็เท่ากับคดีอาญาเลิกไป กลับบ้านได้ จึงกลายเป็นความเหลื่อมล้ำที่พึงแก้ไข
(2) ไทยมีกฎหมายจำนวนมาก การแก้ไขทีละพระราชบัญญัติจึงยิ่งจะใช้เวลานานมาก ดังนั้นการมีกฏหมายกลางจึงสามารถช่วยได้ และใช้เวลาสั้นกว่าในการตรา เพราะร่างกฏหมายนี้เป็นร่างกฏหมายที่รัฐบาลเสนอรัฐสภาในนามกฏหมายสำคัญที่ต้องใช้เพื่อการปฏิรูปประเทศ จึงไม่ต้องผ่านมติทีละสภา คือสภาผู้แทนราษฎรทีกนึ่ง โดยมีการตั้งคณะกรรมาธิการมาพิจารณาทีหนึ่ง แล้วจึงจะไปวุฒิสภา มีอีกคณะกรรมาธิการมาพิจารณาแล้วจึงจะไปถึงวาระสองและสาม จึงจบขั้นตอน แต่เมื่อเป็นกฏหมายเพื่อการปฏิรูป รัฐธรรมนูญยอมให้นำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาอย่างนี้ ตั้งคณะกรรมาธิการชุดเดียวที่มีทั้งสส.และสว.นั่งพิจารณาร่วมกัน จากนั้นนำร่างที่คณะกรรมาธิการแก้ไขเสร็จมาเข้าห้องประชุมใหญ่ของรัฐสภาได้เลย จึงประหยัดเวลาได้มากกว่า
(3) ในบางกรณีเมื่อมีการกระทำความผิดโดยผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่นไม่ได้ยื่นคำขออนุญาตติดป้าย ไม่ได้ยื่นเอกสารรายงานประจำปีตามกฏหมายบางฉบับ หรือทำไปด้วยความยากจนเหลือทนทาน เช่น ลักทรัพย์เพื่อประทังชีพของตนหรือของลูกหรือผู้ป่วยด้วยเหตุจำเป็น ทนหิวไม่ไหวแล้ว แต่แม้เจ้าทุกข์ไม่อยากเอาเรื่องต่อก็ยังไม่มีบทบัญญัติกฏหมายที่จะให้ยุติคดีอาญาได้ในชั้นตำรวจ ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานของการที่จำเลยและผู้เกี่ยวข้องยังต้องติดคากันไปในคดีอาญาจนกว่าจะคดีสิ้นสุด แต่ร่างกฏหมายปรับเป็นพินัยจะช่วยให้สามารถดำเนินการให้ได้ข้อยุติทางอาญาได้รวดเร็วและยืดหยุ่นกว่ามาก ไม่ว่าจะในชั้นเจ้าพนักงานหรือในชั้นศาล
(4) การดำเนินการตามคดีอาญา มักต้องมีการจับกุมคุมขัง พิมพ์ลายนิ้วมือและทำบันทึกประวัติอาชญากร อันเป็นตราบาปติดตัวไปตลอดชีวิต ทั้งๆที่อาจเป็นเหตุเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กฏหมายการปรับเป็นพินัยจึงมิให้บันทึกเป็นประวัติอาชญากรรมและเมื่อดำเนินการตามกฏหมายนี้แล้วเสร็จก็ให้คดีอาญานั้นๆเป็นอันยุติไป กับให้ล้างประวัติอาชญากรรมเดิมของความผิดเล็กน้อยเหล่านั้นออกไปด้วย
(5) การต้องโทษในความผิดที่มีเพียงการปรับนั้น หลายกรณีกลับทำให้เกิดการใช้โทษอาญาเฟ้อ (over criminization) ซึ่งย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิตตามปกติของประชาชนเป็นจำนวนมาก และยังเพิ่มภาระงานในกระบวนการยุติธรรมมากเกินจำเป็น ซึ่งกฏหมายการปรับเป็นพินัยจะช่วยแก้ไขประเด็นนี้ได้
(6) กฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัยมีผลให้ 174 พระราชบัญญัติในบัญชีที่หนึ่ง ที่มีโทษปรับสถานเดียวถูกลดรูปลงใน1ปี และจะมีผลกับอีก 33 พระราชบัญญัติในบัญชีที่สอง ก็ลดรูปลงตามไป เมื่อครม.เสนอพระราชกฤษฎีกามาให้สภาแล้วสภาไม่มีมติไม่เห็นชอบใน 60วัน
ดังนั้น เมื่อกม.นี้มีผลใช้บังคับ เจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฏหมายข้างต้นก็จะได้ สามารถพิจารณาเรียกค่าปรับเข้าหลวง โดยไม่ถือว่าเป็นโทษทางอาญา ไม่ต้องถูกจับกุมคุมขังและไม่ต้องทำประวัติอาชญากร
และในกรณีที่ผู้ทำผิดมีความยากจนเหลือทนทาน กฏหมายนี้ก็ยังกำหนดให้จำเลยหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อพิจารณา ลด หรืองดค่าปรับ หรือให้สามารถผ่อนชำระ หรือให้ไปทำงานบริการสังคมหรือการทำสาธารณะประโยชน์แทน ก็ได้
ดังนั้น ร่างกฏหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย จึงเป็นกฏหมายที่มีประโยชน์สำคัญแก่ระบบกฏหมาย เป็นคุณต่อประชาชน และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมลงได้ อีกทั้งเป็นการลดภาระงานที่ควรลดได้ในกระบวนการยุติธรรม…’’
นายวีระศักดิ์กล่าว
----------------------------------------
ที่มา www.weerasak.org / https://www.facebook.com/Weerasak-Kowsurat
----------------------------------------