ยินดีต้อนรับเข้าสู่เว็บไซต์ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org

เว็บไซต์วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ www.weerasak.org
มีความมุ่งมั่นเเละตั้งใจในการเผยแพร่เรื่องราวความรู้ความเข้าใจในการสร้างสรรค์สังคมด้วย การพัฒนาด้านเศรษฐกิจสังคมกฎหมายและการปกครอง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป
มองโลก มองความยั่งยืน
จบปริญญาโท กฎหมายสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด อดีตสมาชิกในบ้านพิษณุโลกมาตั้งแต่รัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ มีประสบการณ์พัฒนานโยบายสาธารณะมาต่อเนื่อง เป็นนักกฎหมายที่เชื่อมั่นในการพัฒนาที่ยั่งยืน
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
ผู้ที่มีความมุ่งมั่นเเละมีอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์สังคมที่มีความเท่าเทียม การพัฒนาประเทศไทยให้มีความทันสมัย เจริญเติบโตควบคู่ไปกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไป

กมธ.ทรัพยากรฯ จัดประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 2 “การขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจ”

 

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 เวลา 09.00 นาฬิกา ณ ห้องประชุม 402-403 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา จัดประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 2 สมัชชาเฉพาะประเด็น “การขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจ” โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวเปิดงาน นายอำพล จินดาวัฒนะ ประธานคณะทำงานโครงการสมัชชาปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ กล่าวรายงาน พร้อมด้วย คณะกรรมาธิการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมงาน โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวปาฐกถาพิเศษ “การขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจ : เจตนารมณ์ทางการเมือง”

พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ กล่าวว่า ไม้เศรษฐกิจ (Economic Trees) เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้ป่าไม้เพิ่มขึ้น 26 ล้านไร่ หรืออาจมากกว่านั้น เพียงแต่รัฐต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคประชาชน ภาคเอกชน ปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ในพื้นที่นอกเขตป่าไม้ให้ได้อย่างจริงจัง และกำหนดทิศทางในการเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยหันมาให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนอาชีพ จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจควบคู่หรือเป็นอาชีพหลักแทน การจัดประชุมสมัชชาในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่หลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะได้ระดมข้อมูลความคิด ประสบการณ์ เพื่อพัฒนาข้อเสนอการขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจให้เป็นไม้เศรษฐกิจที่สร้างชาติ สร้างความเข้มแข็ง มั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืนให้กับสังคมไทย

นายอำพล จินดาวัฒนะ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้เป็นบทบาทหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ในแนวทาง "การรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ" และ "การเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติจริง" ซึ่งการจัดประชุมสมัชชาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนในสังคม ขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้เพื่อเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการสร้างเครือข่ายสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดิน ผลักดันและขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ การพัฒนาวิชาการ การบริหาร การจัดการความรู้ การสื่อสารและการสร้างกระแสปลูกต้นไม้ให้กว้างขวางและเป็นรูปธรรม และเพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติหน่วยงาน องค์กร ชุมชน คณะบุคคล บุคคลที่ทำงานการปลูกต้นไม้มีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อสร้างเสริมกำลังใจและเป็นแบบอย่างที่ดี นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 60 ปี แผนแม่บทที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืนแผนการปฏิรูประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2562 ยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์กรมป่าไม้ ระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร กำหนดพื้นที่ป่าเศรษฐกิจร้อยละ 15 ของพื้นที่ประเทศ เท่ากับ 48.52 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ 32.65 ล้านไร่ ยังต้องเพิ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ จำนวน 16.87 ล้านไร่ ภายในปี 2580 นอกจากนี้ กรมป่าไม้ โดยสำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ยังได้กำหนดหมุดหมายสู่การขับเคลื่อนการส่งเสริมปลูกไม้เศรษฐกิจไว้ 15 ประการเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการปลูกไม้เศรษฐกิจ

สำหรับการประชุมสมัชชาต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ที่ผ่านมาได้มีการประกาศเจตนารมณ์ร่วม 6 ข้อ ซึ่งมีข้อเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ กฎ กติกา เงื่อนไข และปัจจัยที่สอดคล้องกับหลักการ "ป่าอยู่กับคน ดูแลรักษาและใช้ประโยชน์ได้" ส่งเสริมและสนับสนุนแหล่งทุนและระดมทุนรูปแบบต่าง ๆ ส่งเสริมสนับสนุนทุนการศึกษาทางวิชาการ และการจัดการความรู้พิจารณาปรับปรุงโครงสร้างกลไกภาครัฐ อีกทั้ง ได้มีข้อเสนอจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เห็นว่าการดำเนินการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยมีความสำคัญมาก สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และยังให้คุณค่าต่อสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างมาก แต่ที่ผ่านมายังไม่เข้มแข็งและมีข้อจำกัดมาก สมควรที่ทุกภาคส่วนจะได้พิจารณาศึกษาเสนอผลักดันการขับเคลื่อนไม้เศรษฐกิจร่วมกันต่อไป

ทั้งนี้ ภายในการประชุมสมัชชา ได้จัดให้มีพิธีมอบรางวัลเชิดชูเกียรติ “ปลูกต้นไม้เพื่อแผ่นดินตามรอยพ่อ” 7 กรณี ประกอบด้วย

1. กรณี ธนาคารต้นไม้ จุดกำเนิดที่บ้านคลองเรือ

2. กรณี สวนป่าคืนถิ่น สร้างป่าชุมชนมีชีวิต

3. กรณี โครงการธนาคารต้นไม้

4. กรณี ปลูกป่าด้วยพลังคนพิการ

5. กรณี แต่ละมือของคนไทย สร้างความชอุ่มได้ในแผ่นดิน

6. กรณี สร้างป่า สร้างชุมชน

และ 7. กรณี คนรักษ์ป่า Channel